ชัยนาท 20 ก.ย.-ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง กอนช. เห็นชอบให้รับน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เข้าทุ่งลุ่มต่ำ 10 ทุ่งตั้งแต่ 30 ก.ย.นี้ หลังคาดสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือน ต.ค. จะมีน้ำเหนือปริมาณสูงสุดไหลลงมา
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ในฐานะโฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยพิจารณาใน 2 กรณีคือ มีน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 2,500 ลบ.ม./วินาทีและ 3,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราที่เหมาะสม โดยควบุคมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้อยู่ในเกณฑ์ 3,000 ลบ.ม./วินาที โดยหากมีปริมาณน้ำที่จะไหลไปถึงบางไทรเกิน จะพิจารณาแบ่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง ทั้งนี้การคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณสูงสุดไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนตุลาคม 2565 ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับน้ำเข้าทุ่งจะเริ่มประมาณวันที่ 30 ก.ย.65 ซึ่งจะรับน้ำผ่านเข้าทุ่งที่ความสูง 30 เซนติเมตร เพื่อให้ในทุ่งยังมีพื้นที่ว่างรองรับน้ำหลากและน้ำฝนที่คาดว่า จะตกเพิ่มในพื้นที่ช่วงเดือนตุลาคม และจะพิจารณาปรับช่วงเวลารับน้ำตามสถานการณ์จริง โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าจะกำหนดต่อไป
สำหรับการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทรที่ 3,000 ลบ.ม./วินาทีเป็นการปรับลดเกณฑ์ลง จากเกณฑ์ควบคุมเดิมที่ 3,500 ลบ.ม./วินาทีเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ด้านท้ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล
นายฐนโรจน์กล่าวว่า จากมติที่ประชุมจะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
- ประชาสัมพันธ์ชี้แจง สร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ล่วงหน้า ก่อนดำเนินการเปิดรับน้ำเข้าทุ่ง และให้จัดทำประกาศแจ้งโดยมีรายละเอียด ช่วงวันที่ ลำดับในการรับน้ำเข้าทุ่ง ความสูงระดับน้ำที่รับเข้า ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเช่น การปล่อยปลา การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยจังหวัดออกประกาศและกรมชลประทานสนับสนุนข้อมูล
- จัดเตรียมถุงยังชีพ กรณีน้ำท่วมบ้านเรือนหรือประชาชนไม่สามารถสัญจรออกมาได้ ดำเนินการโดยจังหวัด
- สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น จัดทำสะพาน หรือทางเชื่อมเพื่อสามารถสัญจรเข้า-ออกได้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- สนับสนุนกำลังพลในการช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นบนที่สูง โดยกองบัญชาการกองทัพไทย
- จัดหาศูนย์อพยพและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนในทุ่งรับน้ำได้อาศัยจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดำเนินการโดยจังหวัด
- ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำ เพื่อควบคุมมิให้ระดับน้ำสูงเกินเกณฑ์หรือน้ำเอ่อล้น โดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- สำรวจแนวคันคลองเส้นทางระบายน้ำหลักเพื่อเสริมคันให้สามารถรับน้ำจากปากคลองไปปลายคลองโดยไม่ล้น โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่สำรวจพบคันต่ำหรือชำรุด
- ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำทุกวัน และรับเรื่องร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านกลุ่มไลน์ เครือข่ายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า จ.ชัยนาท โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมชลประทาน.-สำนักข่าวไทย