5 ต.ค. – ศปช. สั่งการส่วนหน้าเพิ่มกำลังเข้าช่วยเหลือ หลังสถานการณ์แม่น้ำปิงยังน่าห่วง เตือนประชาชนเตรียมรับมือและติดตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที พร้อมแจ้งปรับแผนการระบายน้ำเพิ่ม ชป.-สทนช. ประสานงานพื้นที่ท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำปิงยังน่าเป็นห่วง พร้อมทั้งขอให้ ศปช.ส่วนหน้าที่ จ.เชียงราย ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเร่งเข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ทันที ซึ่งได้รับรายงานตั้งแต่ 05.00 น. วันนี้ว่าได้ดำเนินการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าสู่พื้นที่น้ำท่วมที่ยังไม่สามารถเข้าได้ และต้องพร้อมรับมือกับปริมาณระดับน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น
โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศแจ้งเตือนในพื้นที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำสาย ให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำปิง ช่วงวันที่ 3-6 ต.ค. 67 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มล้นตลิ่ง คาดว่าที่สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะมีระดับน้ำสูงสุดสูงกว่าระดับตลิ่งชั่วคราว 1.58 เมตร ในวันที่ 6 ต.ค. 67 และให้เฝ้าระวังพื้นที่ริมลำน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ บริเวณ อ.เมือง อ.ฮอด อ.สารภี อ.แม่วาง และ อ.ดอยหล่อ รวมพื้นที่คาดการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงใหม่ 206.75 กิโลเมตร และใน จ.ลำพูน บริเวณ อ.เมือง อ.ป่าซาง และ อ.เวียงหนองล่อง
ส่วนการดำเนินการปรับแผนในการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรองรับสถานการณ์ตามปริมาณน้ำเหนือ นายจิรายุ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณฝนตกหนักทางพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาในช่วง 1-7 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200-2,500 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า
ทั้งนี้ การระบายน้ำในอัตราดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60-70 เซนติเมตร เฝ้าระวังเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท, อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง, ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท, วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และหากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จะมีการประเมินการณ์จาก สทนช. และให้กรมชลประทาน แจ้งเตือนให้ประชาชนพื้นที่ท้ายน้ำทราบเป็นระยะๆ ต่อไป
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบการรายงานจาก ปภ. ตามข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม จ.เชียงราย ของนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า (ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย) ใน 5 ประเด็น ดังนี้
1.มอบหมายให้สำนักงาน ทส. จ.เชียงราย บริหารจัดการฟื้นฟูใน อ.แม่สาย เพื่อจัดการขยะในพื้นที่
2.มอบให้ตำรวจภูธร จ.เชียงราย บริหารจัดการฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะใน อ.เมือง จ.เชียงราย
3.มอบหมายให้อำเภอ สำนักงาน ปภ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจบ้านผู้เสียหายไม่ว่าทั้งหลังหรือบางส่วน ให้ได้จำนวนแน่นอนทั้งหมด เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยของสำนักนายกรัฐมนตรี
4.ให้สำนักงาน ปภ.จังหวัด จัดทำบัญชีรับสิ่งของบริจาคเพื่อจัดเตรียมส่งมอบพื้นที่ประสบภัย รับบริจาคให้กับสำนักงานจังหวัดและที่ทำการปกครองจังหวัด เพื่อจัดสรรให้กับผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง
5.ให้สำนักงาน ปภ.จังหวัด ประสาน อ.แม่สาย อ.เวียงปาเป้า รวมถึงอำเภอที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีที่อยู่นอกเขต อ.เมืองเชียงราย ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ เมื่อคืนที่ผ่านมา (4 ต.ค. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต (ปภ.) ร่วมทำงานกับศูนย์บัญชาเหตุการณ์ จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่รอยต่อ จ.ลำพูน ได้ปฏิบัติงานใน 2 ส่วน ดังนี้
1.ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (อพยพประชาชน การอำนวยความสะดวกในการสัญจร รวมถึงการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของดำรงชีพ) ปฏิบัติงานเมื่อคืนในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.แม่แตง ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (ERT) พร้อมรถยกสูง เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์
2.ชุดปฏิบัติการสูบน้ำท่วมขัง/สูบระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำของ จ.เชียงใหม่ และรอยต่อ จ.ลำพูน ทีม ปภ. ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำท่วมขังสมรรถนะสูง ศักยภาพสูบน้ำได้ 50,000 ลิตร/นาที ไว้ที่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ สำหรับเร่งระบายมวลน้ำก้อนเดิมออก เพื่อให้พื้นที่ปลายน้ำสามารถรองรับมวลน้ำใหม่ได้ และสามารถระบายน้ำออกแม่น้ำกวง และแม่น้ำปิงได้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เเจ้งต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์น้ำใน อ.เเม่สาย จ.เชียงราย ว่ามีระดับน้ำลดลง และสถานการณ์กำลังสู่ภาวะปกติ โดยน้ำที่ท่วมซ้ำในพื้นที่ 1-2 วันที่ผ่านมาเป็นน้ำหลาก ไม่มีดินโคลนระลอกใหม่ เหลือดินโคลนที่ยังค้างอยู่ในน้ำท่วมเฟสแรก
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการประชุมติดตามความคืบหน้าเฟสแรกใน จ.เชียงราย เพื่อฟื้นฟูเยียวยาประชาชน เมื่อวานนี้ (4 ต.ค. 67) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า (ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย) พร้อมด้วยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปแผนดำเนินการในเฟสแรก ขณะนี้กำลังพลจากกระทรวงกลาโหม มีหน่วยทหารต่างๆ ลงมาประจำจุดทำการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำความสะอาดนำดินโคลนออกมาจากที่อยู่อาศัย อีกทั้งเร่งดำเนินการเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า น้ำ และสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งคาดว่าจะทำงานแล้วเสร็จได้ตามกรอบเดิมที่วางไว้ ส่วนของกระทรงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานการติดตามการช่ายเหลือหมู่บ้านปางช้างแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยได้เคลื่อนย้ายช้างขึ้นที่สูงแล้ว 123 เชือก เหลือเพียง 9 เชือก เนื่องจากเป็นช้างที่มีความดุ ซึ่งได้ประสานผู้เชี่ยวชาญด้านช้างเข้าให้การช่วยเหลือ.-317-สำนักข่าวไทย