กรุงเทพฯ 1 ก.ย.- กรมชลประทานส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลุ่มเจ้าพระยา 11 จังหวัด แจ้งเตือนเฝ้าระวังระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ 4 ก.ย. ในอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนมีระดับน้ำจะสูงขึ้น 40-50 ซม. ตั้งแต่ 5 – 6 ก.ย.นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 11 จังหวัดได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรีสมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานคร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทานจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาทเพิ่มเนื่องจากน้ำเหนือไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น
วันนี้ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ซึ่งมีน้ำไหลผ่าน 1,847 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาทีเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานซึ่งอยู่ที่ 1,846 ลบ.ม./วินาที โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000-2,200 ลบ.ม./วินาที เมื่อสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมาจากจ.อุทัยธานี จะทำให้มีน้ำไหลสู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้กรมชลประทานรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยารวม 200 ลบ.ม./วินาที โดยจะไม่รับน้ำเข้าไปมากจนเกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร แต่จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งเป็นเครื่องมือบริหารจัดการหลักซึ่งในเวลา 11.00 น. วันนี้จะระบาย 1,800 ลบ.ม./วินาทีแล้วคงไว้ให้นานที่สุด
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะมีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกในช่วงวันที่ 3 – 8 ก.ย. 2565 กรมชลประทานจะเริ่มปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2565 ในอัตรา 1,800 – 2,000 ลบ.ม./วินาที สำหรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาที่กรมชลประทานดำเนินการนั้น โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอนุญาตให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที แบบขั้นบันได โดยกำชับให้บริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร
สำหรับการปรับเพิ่มการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำได้แก่ ที่คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 40 – 50 เซนติเมตรในช่วงวันที่ 5 – 6 กันยายน ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้น ที่จะส่งผลให้ มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาทีแจ้งให้ทราบต่อไป.-สำนักข่าวไทย