กรุงเฮก 28 พ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลเท็จออนไลน์มีส่วนโหมกระพือกระแสต่อต้านวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กลายเป็นการใช้ความรุนแรงในเนเธอร์แลนด์
เคียรัน โอคอนเนอร์ นักวิเคราะห์ของสถาบันการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ในอังกฤษที่เชี่ยวชาญเรื่องการต่อต้านกระแสสุดโต่งชี้ว่า การประท้วงเรื่องโควิดในเนเธอร์แลนด์กลายเป็นเหตุรุนแรงซ้ำหลายครั้งแล้วในปีนี้ นายกรัฐมนตรีมาร์ก รุตเตอร์ของเนเธอร์แลนด์ตำหนิผู้ก่อจลาจล แต่เขาเชื่อว่า ต้นตอมาจากทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่กระจายในอินเทอร์เน็ต เห็นได้จากการที่เฟซบุ๊กกลุ่มหลัก 125 กลุ่มที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 ในเวลา 6 เดือน โดยมีสมาชิกรวมกันมากถึง 789,000 คน จากประชากรทั้งประเทศ 17 ล้านคน กลุ่มในสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ไม่ได้ชักชวนคนก่อความรุนแรงโดยตรง แต่อาจชี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเคลื่อนไหว และสร้างพื้นที่ให้กลุ่มอื่น ๆ เข้ามาแสดงความเห็นรุนแรง
นายริการ์โด พรองก์ นักเคลื่อนไหวต่อต้านวัคซีนโควิดวัย 50 ปี เป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กที่มีคนติดตาม 10,000 คน เพจนี้แชร์เรื่องที่มีการชักชวนให้คนชุมนุมประท้วงในเมืองรอตเตอร์ดัมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่กลายเป็นเหตุจลาจลครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ เมื่อตำรวจยิงผู้ก่อเหตุบาดเจ็บ 5 คน และลุกลามเป็นจลาจลทั่วประเทศติดต่อกัน 3 วัน อดีตช่างคอมพิวเตอร์ว่างงานรายนี้ระบุว่า วัคซีนคืออาวุธที่สร้างมาเพื่อฆ่าคน
ด้านคลาส เดอ เฟรส อาจารย์การสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมระบุว่า กลุ่มต่อต้านวัคซีนเป็นเพียงคนส่วนน้อย เพราะผู้ใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วร้อยละ 85 แต่คนกลุ่มนี้เสียงดังเพราะมีพันธมิตรทางการเมืองในสภานั่นคือ พรรคเวทีเพื่อประชาธิปไตย เป็นพรรคขวาจัดที่หัวหน้าพรรคทิ้งนโยบายต่อต้านคนเข้าเมืองหันมาชูนโยบายต่อต้านวัคซีน.-สำนักข่าวไทย