วอชิงตัน 30 เม.ย.-ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐเผยว่า หน่วยงานรัฐบาลได้ทดลองทางคลินิกกับยาเรมเดซิเวียร์ได้ผลเบื้องต้นที่มีความสำคัญมากต่อการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพราะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ดร.แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยสถาบันภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ สังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติหรือเอ็นไอเอช (NIH) แถลงที่ทำเนียบขาววานนี้ตามเวลาสหรัฐว่า เอ็นไอเอชได้ทดลองทางคลินิก ผลเบื้องต้นพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ฟื้นตัวเร็วกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกร้อยละ 31 ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เหมือนกับช่วงปี 2529 ที่โลกพยายามหายารักษาเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ทำให้เป็นโรคเอดส์และไม่พบอะไรเลยในเวลานั้น ยาเรมเดซิเวียร์จะเป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป เอ็นไอเอชเผยผลการทดลองบางส่วนกับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,063 คนว่า ผู้ป่วยที่ได้รับเรมเดซิเวียร์ฟื้นตัวใน 11 วัน เทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกฟื้นตัวใน 15 วัน หรือเร็วขึ้นร้อยละ 31 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของกลุ่มแรกอยู่ที่ร้อยละ 8 กลุ่มหลังอยู่ที่ร้อยละ 11.6 สัดส่วนไม่ต่างกันมากนักจึงอาจไม่ใช่ผลจากยา คณะนักวิจัยคาดว่าจะทราบผลการทดลองอย่างสมบูรณ์ภายในกลางเดือนพฤษภาคม
สำนักงานอาหารและยาสหรัฐหรือเอฟดีเอ (FDA) เผยว่า กำลังคุยกับบริษัทกิเลียดไซเอินซ์เรื่องผลิตยาเรมเดซิเวียร์ให้ผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด แต่ไม่ให้ความเห็นว่าจะอนุมัติทางกฎระเบียบที่จะเปิดทางให้สามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์หรือไม่ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตอบข้อถามเรื่องต้องการให้เอฟดีเออนุญาตให้ใช้ยาขนานนี้เป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่ว่า อยากให้อนุญาตโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะสิ่งที่ได้ผล แต่ก็อยากให้ทุกอย่างปลอดภัย กิเลียดไซเอินซ์เคยเผยเมื่อต้นเดือนว่า พร้อมบริจาคเรมเดซิเวียร์ที่มีอยู่ 1.5 ล้านชุดให้แก่โรงพยาบาล เพียงพอสำหรับผู้ป่วยกว่า 140,000 คน
ผู้เชี่ยวชาญบางคนในสหรัฐติงว่า ควรเปรียบเทียบผลการศึกษาของเอ็นไอเอชกับที่อื่น ๆ เพราะได้ผลไม่ตรงกัน วารสารแลนเซ็ตเผยแพร่ผลการทดลองในจีนเมื่อวันพุธที่สรุปว่า ยาเรมเดซิเวียร์ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 อาการดีขึ้นหรือลดจำนวนไวรัสในกระแสเลือด กิเลียดไซเอินซ์แย้งว่า ผลการทดลองไม่สมบูรณ์เพราะยุติก่อนเวลา อนึ่ง เรมเดซิเวียร์เคยใช้ทดลองรักษาไวรัสอีโบลาที่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกมาแล้วแต่ไม่ได้ผล.- สำนักข่าวไทย