กรุงเทพฯ 11 พ.ค. – กรมอุตุนิยมวิทยา เผยพายุฤดูร้อนยังส่งผลกระทบถึง 12 พ.ค.นี้ คืนที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีฝนตกหนักเกินศักยภาพการระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ในระยะเปลี่ยนถ่ายฤดูกาลยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ปริมาณฝนสะสมในกรุงเทพมหานครตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (10 พฤษภาคม เวลา 07.00 น. – 11 พฤษภาคม เวลา 07.00 น.) สูงสุดที่บริเวณปตร. คลองลาดพร้าว 130.0 มิลลิเมตร รองลงมาคือ สถานีบางเขน 123.0 มิลลิเมตร คลองบางบัว 109.5 มิลลิเมตร สำนักงานเขตพญาไท 106.0 มิลลิเมตร และจุดวัดสะพานขวา 105.0 มิลลิเมตร
หลายพื้นที่ฝั่งเหนือของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ หลักสี่ ดอนเมือง จตุจักร บางเขน รวมถึง พญาไท ห้วยขวาง และบางซื่อ มีฝนสะสมเกิน 90 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณที่ลุ่มต่ำหรือมีข้อจำกัดด้านระบบระบายน้ำ โดยกรุงเทพมหานครมีศักยภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครที่อยู่ที่ประมาณ 60 มิลลิเมตรต่อ 24 ชั่วโมง ดังนั้นหลายพื้นที่ปริมาณฝนเกินศักยภาพการระบายไป 2 เท่า

สภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูฝน โดยมีลมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น และมีมวลอากาศเย็นจากตอนบนของเวียดนามปะทะกับอากาศร้อนของไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ พร้อมเตือนว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางแห่ง
ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงควรระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวน หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่หรือสิ่งปลูกสร้างไม่มั่นคง และติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิดจากกรมอุตุนิยมวิทยา.512-สำนักข่าวไทย