ปารีส 25 ก.พ.- รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2562 ระบุว่า เกือบร้อยละ 90 ของ 200 เมืองที่ถูกจัดว่ามีฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นอันตรายในระดับสูงที่สุดในโลกอยู่ในจีนและอินเดีย ที่เหลืออยู่ในปากีสถานและอินโดนีเซีย
ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีขนาด 2.5 ไมครอน หรือราว 1 ส่วน 30 ของความกว้างเส้นผม เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายมากที่สุด เพราะเล็กมากจนสามารถผ่านเนื้อเยื่อปอดเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เป็นหอบหืด มะเร็งปอดและโรคหัวใจ รายงานที่ร่วมเผยแพร่โดยไอคิวแอร์กรุ๊ปและกรีนพีซอ้างอิงข้อมูลเมืองต่าง ๆ เกือบ 5,000 แห่งทั่วโลกระบุว่า หากคำนวณตามจำนวนประชากร ประเทศที่มีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เลวร้ายที่สุดในโลกคือบังกลาเทศ ตามด้วยปากีสถาน มองโกเลีย อัฟกานิสถาน และอินเดีย ขณะที่จีนอยู่อันดับที่ 11 หากดูเฉพาะเมืองมหานครที่มีประชากร 10 ล้านคนขึ้นไป กรุงนิวเดลีของอินเดียมีพีเอ็ม 2.5 มากที่สุด ตามด้วยเมืองลาฮอร์ของปากีสถาน กรุงธากาของบังกลาเทศ เมืองโกลกาตาของอินเดีย เมืองหลินอี้และเทศบาลนครเทียนจินของจีน กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย เมืองอู่ฮั่น เมืองเฉิงตูและกรุงปักกิ่งของจีน เท่ากับว่าประชากรโลกร้อยละ 90 กำลังหายใจเอาอากาศอันตรายเข้าปอดกันอยู่ทุกวัน
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเกิดจากพายุฝุ่น การเกษตร อุตสาหกรรม ไฟป่า และการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล องค์การอนามัยโลกกำหนดเกณฑ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ว่าไม่ควรเข้มข้นเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (25 mcg/m3) ในช่วง 24 ชั่วโมง หากพื้นที่ตอนเหนือของอินเดียและตอนกลางค่อนไปทางเหนือของจีนสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศให้เป็นไปตามเกณฑ์นี้ จะช่วยให้คนมีอายุขัยเพิ่มขึ้น 6-7 ปี
ส่วนในกลุ่มประเทศร่ำรวย 36 ประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดี (OECD) ประเทศที่มีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มากที่สุดคือเกาหลีใต้ มีเมืองมลพิษทางอากาศ 105 เมืองจากเมืองที่แย่ที่สุด 1,000 เมือง โปแลนด์มี 39 เมือง อิตาลีมี 31 เมือง ขณะที่แอฟริกาและตะวันออกกลางไม่มีข้อมูลมากพอเพราะมีสถานีวัดคุณภาพอากาศน้อยมาก.- สำนักข่าวไทย