ปักกิ่ง 29 พ.ย.- กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนแจ้งว่า ทางการปิดโรงงานโลหะหนักไปแล้ว 1,300 แห่งนับตั้งแต่ปี 2559 อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระยะยาวในการควบคุมปัญหาดินปนเปื้อนมลพิษเรื้อรังในวงกว้าง
เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ดูแลการแก้ปัญหาดินปนเปื้อนมลพิษแถลงข่าววันนี้ว่า กระทรวงมั่นใจว่าจะทำให้พื้นที่การเกษตรปนเปื้อนมีความปลอดภัยสำหรับทำการเกษตรได้ร้อยละ 90 ภายในสิ้นปีหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ งบประมาณในการฟื้นฟูดินมีตั้งแต่ 500-2,000 หยวน (ราว 2,150-8,595 บาท) ต่อ 0.67 ตารางเมตร เน้นเรื่องแก้ไขอันตรายมากกว่าจะทำความสะอาดดินทุกตารางเมตร หากคิดว่าการป้องกันและแก้ปัญหาดินปนเปื้อนเป็นเรื่องเสียค่าใช้จ่ายสูงถือเป็นการมองด้านเดียว เพราะสิ่งสำคัญอันดับแรกคือการป้องกันและควบคุมอันตรายจากมลภาวะ มีดินเพียงส่วนน้อยที่ต้องทำความสะอาดจริง ๆ นอกจากปิดโรงงานผลิตโลหะหนัก 1,300 แห่งแล้ว กระทรวงยังได้ปรับแก้ไขโรงงานผลิตแคดเมียมเกือบ 700 แห่งให้ถูกต้องเพราะเป็นโลหะหนักที่พบมากในข้าว และปรับที่ดินให้เหมาะกับพืชที่ทนต่อมลภาวะเพื่อลดอันตราย หลังจากนี้กระทรวงจะประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ส่งเสริมให้เอกชนและวิสาหกิจอัดฉีดเงินให้แก่การทำความสะอาดดินต่อไป
ผลสำรวจทั่วประเทศจีนในปี 2557 พบว่า ที่ดินร้อยละ 16 หรือเท่ากับพื้นที่มองโกเลียทั้งประเทศ ปนเปื้อนปุ๋ย ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก พลาสติก และสารเคมีอื่น ๆ ในระดับต่าง ๆ กันไป ผลการศึกษาของรัฐบาลในปี 2558 ประมาณว่า มีโลหะหนักปนเปื้อนพื้นที่การเกษตรอย่างน้อย 62.5 ล้านไร่ ทำให้ผลผลิตธัญพืชลดลงถึงปีละ 10 ล้านตัน รัฐบาลประกาศแผนในปีถัดมา กำหนดเป้าหมายควบคุมที่ดินปนเปื้อนมลพิษในเบื้องต้นให้ได้ภายในปี 2563 และเริ่มลดระดับการปนเปื้อนลงให้ได้ภายในปี 2573 ปัญหาใหญ่คือเรื่องงบประมาณ แม้รัฐบาลจัดสรรเงิน 28,000 ล้านหยวน (ราว 120,412 ล้านบาท) ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แต่ต้องพยายามอย่างหนักในการจูงใจและให้ทุนพื้นที่ชนบทหรืออุตสาหกรรมเก่าเพราะที่ดินมีราคาต่ำเกินกว่าจะคุ้มค่ากับการปรับปรุง.-สำนักข่าวไทย