ลอนดอน 3 ก.ย.- ผลการศึกษาสองชิ้นได้ผลตรงกันว่า มะเร็งกลายเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตคนในประเทศร่ำรวยมากกว่าโรคหัวใจไปแล้ว แม้ว่าโรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนวัยกลางคนทั่วโลกอยู่ก็ตาม
นิตยสารแลนเซ็ตลงพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นแรกของมหาวิทยาลัยลาวัล รัฐควิเบกในแคนาดาที่ได้จากการติดตามศึกษาผู้ใหญ่กว่า 160,000 คน ในประเทศรายได้สูง ปานกลางและน้อยเป็นเวลานานกว่าทศวรรษได้ข้อสรุปว่า ผู้ใหญ่ในประเทศยากจนเฉลี่ยแล้วเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจมากกว่าผู้ใหญ่ในประเทศร่ำรวยราวสองเท่าครึ่ง แต่กลับพบโรคไม่ติดต่ออย่างมะเร็งและปอดอักเสบน้อยกว่า แต่หากมองในภาพรวมทั่วโลกแล้วโรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 40 ที่ทำให้คนวัยกลางคนเสียชีวิต หรือราว 17.7 ล้านคนเมื่อปี 2560 ขณะที่โรคมะเร็งเป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 26 ขณะนี้อัตราการเป็นโรคหัวใจของคนทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง จึงเป็นไปได้ว่ามะเร็งจะแซงหน้าขึ้นมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งทั่วโลกในอีกไม่กี่ปี
ส่วนผลการศึกษาชิ้นที่สองของมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ รัฐออนแทรีโอของแคนาดาเช่นเดียวกันได้จากการติดตามศึกษาผู้ป่วยใน 21 ประเทศมีทั้งรายได้สูง ปานกลาง และน้อยพบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อาหาร พฤติกรรม เศรษฐกิจและสังคม เป็นสาเหตุร้อยละ 70 ของโรคหัวใจทั่วโลก ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านการเผาผลาญอาหาร เช่น คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน เบาหวาน เป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 40 ของโรคหัวใจทั่วโลก แต่เป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจในประเทศร่ำรวย ขณะเดียวกันพบว่าโรคหัวใจในประเทศกำลังพัฒนามีความเชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศในครัวเรือน การรับประทานอาหารไม่ดีและการศึกษาน้อย พร้อมกับแนะนำว่ารัฐบาลประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อยควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและจัดการโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจให้มากขึ้น มากกว่ามุ่งสนใจแต่โรคติดต่อเป็นหลัก.-สำนักข่าวไทย