โตเกียว 6 ก.พ.- คณะนักวิจัยแจ้งว่า ประสบความสำเร็จในการใช้สเต็มเซลล์ของหนูเพาะไตในตัวอ่อนหนู เป็นเทคนิคที่สร้างความหวังว่าจะสามารถเพาะไตมาใช้ปลูกถ่ายให้คนได้ต่อไปในที่สุด
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications ฉบับวันนี้อธิบายว่า คณะนักวิจัยเริ่มต้นการศึกษาด้วยการพัฒนา “แหล่งอาศัย” ที่เหมาะแก่การเพาะไต พวกเขาตัดแต่งพันธุกรรมตัวอ่อนหนูไม่ให้สร้างไตได้เอง แล้วนำมาฉีดสเต็มเซลล์หนูชนิดพลูริโพเทนต์ (iPS) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ในร่างกายได้เกือบทุกชนิดรวมทั้งเนื้อเยื่อ จากนั้นนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกหนูตัวเมีย นักวิจัยพบว่า สเต็มเซลล์จากหนูตัวเล็กประเภท mouse สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์หลักสองชนิดที่เติบโตขึ้นเป็นไตที่ทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่สเต็มเซลล์จากหนูตัวใหญ่ประเภท rat ไม่สามารถทำได้ สันนิษฐานว่าเป็นพราะสิ่งแวดล้อมภายในตัวหนูแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี แม้ประสบความสำเร็จในการเพาะไตที่ทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่หนูเหล่านี้กลับตายหลังเกิดได้ไม่นาน คาดว่าการตัดแต่งพันธุกรรมทำให้ลูกหนูสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นจึงไม่ได้ดูดนมแม่ตามที่ควรจะเป็น นักวิจัยจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหานี้ หากสำเร็จก็จะทดลองกับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และหวังว่าจะนำไปสู่การเพาะอวัยวะเพื่อปลูกถ่ายให้คนได้ในที่สุด แต่จะต้องก้าวข้ามประเด็นด้านจริยธรรมเรื่องการเพาะอวัยวะคนในสัตว์ให้ได้เสียก่อน สัตว์ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดคือ หมู แต่ตัวอ่อนหมูใช้เวลาเติบโตเพียง 16 สัปดาห์เท่านั้น น้อยกว่าคนที่ใช้เวลา 40 สัปดาห์ ตัวอ่อนปศุสัตว์ที่ใช้เวลาใกล้เคียงกับคนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย