นิวยอร์ก 28 ก.ค.- นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ทั้งคลื่นความร้อนทุบสถิติ ไฟป่ารุนแรง และน้ำท่วมใหญ่ ล้วนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โนอาห์ ดิฟเฟนเบาจ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเผยว่า มีหลักฐานชัดเจนอย่างมากว่า ภาวะโลกร้อนทำให้พื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของโลกมีโอกาสร้อนจัดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และทำให้พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของโลกมีโอกาสฝนตกหนักมากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
เจฟฟ์ มาสเตอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรเวเธอร์อันเดอร์กราวด์กล่าวว่า ยุโรป ญี่ปุ่น และภาคตะวันตกของสหรัฐเกิดกระแสลมกรดที่พัดเป็นแนวโค้งคดเคี้ยวมากมาหลายสัปดาห์แล้ว ทำให้ความร้อนถูกเก็บกักไว้ ไมเคิล มานน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนียชี้ว่า ลักษณะอากาศแบบนี้เคยทำให้ยุโรปเกิดคลื่นความร้อนในปี 2546 รัสเซียเกิดคลื่นความร้อนและไฟป่าในปี 2553 รัฐเทกซัสและรัฐโอคลาโฮมาของสหรัฐเกิดภาวะแห้งแล้งในปี 2554 แคนาดาเกิดไฟป่าในปี 2559
คณะนักวิทยาศาสตร์ในโครงการเวิลด์เวเธอร์แอตทริบูชันเผยผลการศึกษาเมื่อวันศุกร์ว่า ผลการเปรียบเทียบการวัดและพยากรณ์ความร้อนในช่วง 3 วันของเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และไอร์แลนด์กับสถิติสูงสุดในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษหลังปี 1900 พบว่า มีความเป็นได้ประมาณ 2 เท่าว่าคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมทั่วยุโรปในขณะนี้เป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น ไฟป่าในกรีซที่คร่าชีวิตคนไปแล้ว 83 คน รุนแรงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่ปี 2443.-สำนักข่าวไทย