มะนิลา 1 พ.ค. – หลายประเทศจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคมของทุกปี ทั้งในฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และอาร์เจนตินา ส่วนเวเนซูเอลาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 23
กลุ่มสหภาพแรงงานในฟิลิปปินส์ จัดชุมนุมประท้วงเนื่องในวันแรงงานในย่านเศรษฐกิจการค้า ถนนเมนดิโอลา และ เรคโต อะเวนิว ของกรุงมะนิลา แม้ตำรวจทำการปิดกั้นถนนเพื่อพยายามไม่ให้จัดชุมนุมก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุมที่นอกจากเป็นกลุ่มแรงงานจากหลายสหภาพแล้วยังมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวเยาวชนและกลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยนักศึกษา ร่วมกันเรียกร้องสิทธิของแรงงานและเรียกร้องรัฐบาลขึ้นค่าจ้างรายวันแห่งชาติ วันละ 1,200 เปโซ หรือ ราว 718บาท ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยอย่างหนักแน่นหนาของตำรวจนับหมื่นนาย โดยไม่มีรายงานเกิดความรุนแรง
ที่เกาหลีใต้ผู้ชุมนุมหลายพันคนเดินขบวนไปตามท้องถนนย่านใจกลางกรุงโซลเพื่อแสดงความไม่พอใจการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ผู้ชุมนุมบอกว่าชีวิตของผู้ใช้แรงงานย่ำแย่มากภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบันและประกาศจะโค่นรัฐบาลด้วยตัวของพวกเขาเอง นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมในอีกหลายเมืองใหญ่ ทางการวางกำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด โดยยังไม่มีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ

กลุ่มแรงงานชาวอาร์เจนตินาหลายพันคน ร่วมเดินขบวนในกรุงบัวโนส ไอเรส เมื่อวานนี้ หรือ1วันก่อนถึงวันแรงงาน หรือ เมย์ เดย์ โดยร่วมกันชูป้ายประท้วงและเรียกร้องสิทธิพร้อมประณามปัญหาความทุกข์ยากของกลุ่มแรงงานและต้องการให้เริ่มเจรจาเรื่องเงินค่าจ้างตามที่ประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิเล ของอาร์เจนตินา แถลงไว้ตอนเข้ารับตำแหน่ง ก่อนหน้านี้ ผู้นำอาร์เจนตินา ประกาศคำมั่นจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยมาตรการรัดเข็มขัดหลายอย่างที่กระทบการบริโภค การผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ของเวเนซูเอลา ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบรวม เป็นร้อยละ 23 หรือ เดือนละ 160 ดอลลาร์ หรือราว 5,370บาท หรือ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่เดือนละ 130 ดอลลาร์ หรือราว 4,363 บาท และยังประกาศขึ้นเงินโบนัสด้วย แต่ฐานเงินเดือนพนักงานรัฐยังคงไว้เท่าเดิม ข่าวระบุว่า รัฐบาลเวเนซูเอลาเลือกขึ้นเงินโบนัสเพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณสวัสดิการทางสังคมและผลประโยชน์ตามกฏหมายอื่นๆท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและการถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมัน.-816.-820.-สำนักข่าวไทย