จาการ์ตา 12 ก.ค.- อินโดนีเซียเริ่มกู้คืนข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสจากการถูกโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยมีหน่วยงานรัฐบาลถูกโจมตีมากกว่า 160 แห่ง
สเตลธ์โมล (StealthMole) บริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในสิงคโปร์เผยว่า กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า เบรนไซเฟอร์ (Brain Cipher) เรียกค่าไถ่เป็นจำนวนเงิน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 290 ล้านบาท) เพื่อปลดล็อกรหัส แต่ในเวลาต่อมาได้ขอโทษและเปิดเผยกุญแจไขรหัสโดยไม่คิดเงิน ด้านนายฮาดี จาเยียนโต รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงของอินโดนีเซียแถลงในวันนี้ว่า กระทรวงสื่อสารกำลังใช้ยุทธศาสตร์การถอดรหัสกู้คืนบริการภาครัฐ 30 บริการที่ดูแลโดย 12 กระทรวง โดยทยอยดำเนินการ แต่ไม่ได้เปิดเผยในรายละเอียด และไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลได้ใช้กุญแจไขรหัสของแฮ็กเกอร์หรือไม่
การโจมตีเมื่อเดือนพฤษภาคมกระทบต่อการให้บริการภาครัฐหลากหลายบริการ รวมถึงการตรวจคนเข้าเมืองและการดำเนินงานตามท่าอากาศยานหลัก เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียยอมรับว่า ข้อมูลจำนวนมากไม่ได้รับการสำรองไว้ แฮ็กเกอร์ได้ใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์เข้ารหัสข้อมูล แล้วเรียกค่าไถ่ในการปลดล็อกรหัส ทางการอินโดนีเซียระบุว่า แฮ็กเกอร์ใช้ซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายหรือที่เรียกว่ามัลแวร์ชื่อล็อคบิต 3.0 (Lockbit 3.0).-814.-สำนักข่าวไทย