นิวเดลี 2 ก.ย. – องค์การวิจัยด้านอวกาศอินเดีย หรือไอเอสอาร์โอ ปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศในวันนี้ เพื่อเดินทางไปสำรวจดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นภารกิจสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกของอินเดีย หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนอินเดียเพิ่งประสบความสำเร็จกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ส่งยานอวกาศลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์
เว็บไซต์ของไอเอสอาร์โอ ถ่ายทอดสดการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศในวันนี้ โดยจรวดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อเวลาก่อนเที่ยงวันพร้อมกับปล่อยควันเป็นทางยาวในขณะที่นักวิทยาศสตร์อินเดียพากันปรบมือส่งเสียงแสดงความยินดี การถ่ายทอดสดครั้งนี้มีผู้ชมเกือบ 500,000 คน ในขณะที่ประชาชนอีกหลายพันคนไปเฝ้าชมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ที่ใกล้ ๆ กับจุดปล่อยจรวดศรีหริโคตา ห่างจากเมืองเจนไนไปทางเหนือ 100 กิโลเมตร การเดินทางครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อไปศึกษาลมสุริยะ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อดาวเทียม ระบบสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของโลกได้
ยานที่มีชื่อว่า “อาทิตยา-แอล1” (Aditya-L1) คือยานสำรวจดวงอาทิตย์ลำแรกของอินเดีย ตั้งชื่อตามคำว่า “พระอาทิตย์” ในภาษาฮินดู จะเดินทางเป็นระยะทางราว 1.5 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 เดื่อนไปยังจุดที่เรียกว่า แอล 1 ที่เป็นจุดจอดยานอวกาศเพื่อทำการสังเกตุการณ์ดวงอาทิตย์ แอล 1 เป็นชื่อที่อ้างอิงถึงจุดลากร็องฌ์ (Lagrange Points) ซึ่งเป็นสถานที่ในอวกาศที่มีความสมดุลของแรงโน้มถ่วง การไปอยู่ที่จุดนั้น จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงของยานอวกาศได้ จุดลากร็องฌ์ ตั้งชื่อตาม โจเซฟ หลุยส์ ลากร็องฌ์ (Joseph-Louis Lagrange) นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เกิดในอิตาลี ที่เป็นคนแรกที่ศึกษาเกี่ยวกับจุดนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยานอวกาศ “จันทรายาน-3” ของอินเดีย สามารถลงจอดบริเวณขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นประเทศแรก ถือเป็นความพยายามครั้งที่สองของอินเดียในการลงจอดบนขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์.-สำนักข่าวไทย