ปารีส 20 เม.ย.- กลุ่มสังเกตการณ์สภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) เตือนว่า ภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ธารน้ำแข็งละลายในช่วงฤดูร้อนปี 2565 ซึ่งเป็นฤดูร้อนที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ของยุโรป อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในปีนี้ เนื่องจากอุณหภูมิของยุโรปสูงขึ้นเร็วกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก
สำนักงานบริการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส ออกรายงานประจำปีฉบับปรับปรุงในวันนี้ว่า แม่น้ำทั่วยุโรปราว 2 ใน 3 มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับเฉลี่ย ขณะที่ธารน้ำแข็งบริเวณเทือกเขาแอลป์ มีแผ่นน้ำแข็งหายไปคิดเป็นปริมาตร 5 ลูกบาศก์กิโลเมตร อุณหภูมิของยุโรปสูงขึ้นเร็วกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกราว 2 เท่า โดยพบว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยุโรปมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.2 องศาเซลเซียส จากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
โคเปอร์นิคัส ซึ่งเก็บข้อมูลสภาพอากาศผ่านดาวเทียมและอุปกรณ์ทางบกและทางทะเล ระบุว่า ปี 2565 เป็นปีที่ร้อนเป็นอันดับ 2 ของยุโรป และมีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของยุโรป นับตั้งแต่เริ่มมีการเปรียบเทียบข้อมูลในคริสต์ทศวรรษ 1950 โคเปอร์นิคัสยังไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ในปี 2566 แต่เชื่อว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้า เนื่องจากมีการสะสมก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เข้มข้นขึ้น พร้อมกับเตือนว่า สภาพดินในยุโรปใต้ยังคงแห้งแล้งอย่างไม่น่าเชื่อ และจะส่งผลกระทบในปีนี้ หากไม่มีฝนตกปริมาณมากในฤดูใบไม้ผลิ.-สำนักข่าวไทย