ก.เกษตร 6 เม.ย.-“มนัญญา” เรียกประชุมด่วน แก้ปัญหาโกงเงินสหกรณ์กระทรวงเกษตรฯ พบเสียหายแล้ว 85 บัญชี รวมกว่า 491 ล้านบาท เตรียมเสนอนายกฯ ตั้งกรรมการพิเศษ “ดีเอสไอ-ปปง.-ก.เกษตรฯ” ตามยึดเงินคืน ขู่ผู้ต้องหารีบคืนเงิน พร้อมสั่งรื้อระบบตรวจสอบใหม่ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์ฯ และสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วม
โดยที่ประชุมมีการรายงานจำนวนผู้เสียหายที่ตรวจพบแล้ว รวม 85 ราย ยอดความเสียหาย 491 ล้านบาท ขณะที่ทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ล่าสุด มีจำนวน 1,574 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นทุนสำรอง 151 ล้านบาท และเงินฝากในสถาบันการเงินอื่นที่เป็นเงินลงทุน จำนวน 650 ล้านบาท สหกรณ์ยืนยันพร้อมรับผิดชอบเงินฝากของสมาชิกทุกคน และจะเร่งรัดการตรวจสอบทุกบัญชีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 เมษายนนี้ ขณะเดียวกันก็จะตั้งกรรมการตรวจสอบ และดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทุกคน โดยล่าสุด มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาฐานลักทรัพย์นายจ้างแล้ว 2 คน ประกอบด้วย นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ และนางสิริพร รัตนปราการ หัวหน้าฝ่ายการเงินสหกรณ์ฯ
นางสาวมนัญญา ระบุว่า จะรีบเสนอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการพิเศษร่วม ระหว่าง ดีเอสไอ ปปง. และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ติดตามเส้นทางการเงิน ที่แม้จะถูกยักย้ายถ่ายเทไปแล้วเพื่อคืนเงินให้สมาชิก พร้อมฝากถึงผู้ต้องหาที่แม้จะมีข่าวว่าหลบหนีไปลาว หรือเวียดนาม แต่ทราบว่ายังมีคนที่ติดต่อได้ ให้รีบนำเงินมาคืน อย่าให้คนในครอบครัวต้องเดือดร้อนฐานสมรู้ร่วมคิด
รมช.เกษตรฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบสหกรณ์อื่นๆ ทั่วประเทศว่าเกิดการทุจริตแบบเดียวกันหรือไม่ โดยให้จัดทำระบบรายงานการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้สมาชิกตรวจสอบยอดเงินได้ทันที ขณะเดียวกันยังสั่งให้หาทางอุดช่องโหว่การทุจริตในอนาคต ทั้งในส่วนของผู้ตรวจสอบบัญชีที่ต้องถูกลงโทษ หากปล่อยปละให้เกิดการทุจริต ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต หรือเปลี่ยนการโอนยอดเงินผ่านบัญชีธนาคาร ไม่จ่ายเป็นเงินสด ส่วนแนวทางที่จะปรับโครงสร้างการกำกับดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินมากกว่าเป็นผู้ดูแลนั้น ตนคงตอบไม่ได้ เพราะสหกรณ์ถือเป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม แม้แต่ธนาคารเองก็เคยเจอปัญหาการทุจริตมาแล้ว
ด้านนายอำพันธ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยืนยันว่า แม้เหตุทุจริตที่เกิดขึ้นจะเกิดซ้ำๆ ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี แต่สาเหตุไม่ได้เกิดจากระบบที่วางไว้ดีอยู่แล้ว แต่มาจากคนที่ไม่ปฏิบัติตามระบบที่วางไว้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกสหกรณ์ที่ถูกทุจริตเงิน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และสอบถามถึงแนวทางแก้ไขปัญญา โดยส่วนใหญ่สมาชิกที่ได้รับความเสียหาย เป็นสมาชิกที่ไม่ค่อยมีการทำธุรกรรมถอนเงิน เพียงรับรู้ยอดจากสลิปที่สหกรณ์ปรินท์ให้ทุกเดือน ผ่านระบบพิมพ์ดีดไฟฟ้า ซึ่งผู้ทุจริตแอบปลอมลายเซ็นต์ถอนเงิน แล้วไม่บันทึกยอดจริงในระบบ ขณะที่บางรายไว้ใจฝากสมุดเงินฝากไว้กับเจ้าหน้าที่สหกรณ์ และถูกปลอมลายเซ็นต์ถอนเงิน จนมารู้ตัวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีแอปพลิเคชั่นให้ตรวจสอบยอดเงินแบบเรียลไทม์ และพบว่ายอดเงินไม่ตรงกันจนนำมาสู่การพบการทุจริต.-สำนักข่าวไทย