เกาหลีใต้ 4 เม.ย. – วันนี้มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในเกาหลีใต้ เมื่อประธานาธิบดีถูกถอดถอนจากตำแหน่งเป็นคนที่สอง จากกรณีประกาศกฎอัยการศึก
ในที่สุดวิกฤติการเมืองของเกาหลีใต้ก็ได้ข้อยุติ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดเหตุผลในการประกาศกฎอัยการศึกฟังไม่ขึ้น เป็นการปลุกซากเผด็จการและบั่นทอนประชาธิปไตย
กว่า 4 เดือนที่แล้วที่เกาหลีใต้เผชิญสภาวะเช่นนี้ที่ผู้คนสองขั้ว สองข้าง ฝ่ายหนุน ฝ่ายต้าน เผชิญหน้ากัน เช้าวันนี้ตำรวจระดมกำลังกันมา 14,000 นาย ในกรุงโซล เพื่อป้องกันผู้ประท้วงสองค่ายความคิดที่มารอฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดชี้ชะตาด้วยใจจดจ่อ

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน นั่งบัลลังก์ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนจากตำแหน่งตัวแทนรัฐสภา ผู้ยื่นคำร้องถอดถอน กับฝ่ายตัวแทนนายยุน ผู้ถูกร้องภายในศาล ยอมรับคำวินิจฉัยอย่างสงบ ต่างจากภายนอกศาล บรรยากาศการระเบิดอารมณ์ของคนสองผู้สมหวังเฉลิมฉลอง บรรยากาศต่างสุดขั้วกับผู้ผิดหวัง
ย้อนไปคืนวันที่ 3 ธันวาคมปีที่แล้ว นายยุนประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ทหารถูกเรียกตัวกลางดึก ไปประจำการที่อาคารรัฐสภา ศูนย์กลางของความชุลมุนวุ่นวายและสับสน ทหารเผชิญหน้าหวุดหวิดที่จะเกิดอุบัติเหตุกับ สส. และนักข่าว ที่พยายามหาคำตอบว่าเหตุใดประเทศชาติผ่านพ้นยุคเผด็จการมานาน ต้องตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ผ่านไปไม่นาน นายยุน ต้องจำนนยกเลิกกฎอัยการศึก แต่เวลาที่ประกาศเพียง 6 ชั่วโมง ก็เพียงพอทำให้ความตึงเครียดและสับสนงงงันของคนทั้งในเกาหลีใต้และทั้งโลก
นายยุน ซ็อก ยอล เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ชูแนวทางอนุรักษ์นิยม แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ ด้วยผลงานปราบโกงในตำแหน่งอัยการสูงสุด อาสามาชำระล้างการเมืองให้สะอาด ต่อสู้กับสภาพราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงลิ่ว จนชนะการเลือกตั้งสังกัดพรรคพลังประชาชน เมื่อ 2 ปีก่อน มาในระยะหลังความนิยมดิ่งฮวบ เพราะข้อครหาทุจริตโยงใยภรรยาที่รับของกำนัลไม่เหมาะสม งานในรัฐสภาติดขัด เมื่อพรรคประชาธิปไตยครองเสียงข้างมาก จนไม่สามารถผลักดันงบประมาณได้ มองกันว่านี่คือสาเหตุที่เข้าตาจน เลือกใช้วิธีประกาศกฎอัยการศึก ด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือและฝ่ายค้าน และกลุ่มก้อนที่บ่อนทำลายเสรีภาพ

จากเนื้อหาในคำวินิจฉัยของศาลวันนี้ เหตุผลนายยุนฟังไม่ขึ้น
1.นายยุน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในฐานะประธานาธิบดี ด้วยการกระทำการเกินอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
2.นายบุน กระทำการทำลายความไว้วางใจของประชาชน
3.การประกาศกฎอัยการศึกเป็นการสร้างความวุ่นวายโกลาหลต่อสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศ
4.การประกาศกฎอัยการศึกไม่เป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนด
5.นายยุน ไม่เพียงแต่ประกาศกฎอัยการศึก แต่ยังได้ละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยการระดมทหารและตำรวจเข้าไปขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
คำวินิจฉัยนี้มีผลให้นายยุนพ้นจากตำแหน่งในทันที และไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ใดๆ เขาจึงกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของเกาหลีใต้ ต่อจากนางปัก กึน-ฮเย ที่ถูกปลดจากตำแหน่งผ่านกระบวนการยื่นถอดถอนของรัฐสภา
ยังไม่แน่ชัดว่าคำวินิจฉัยจะเป็นข้อยุติให้กับสังคมได้หรือไม่ เพราะมันได้สร้างรอยร้าวลึก แต่ที่ยุติลงแน่ๆ คือตำแหน่งผู้นำของนายยุน จากนี้ไปเขายังต้องเผชิญกับคดีความอาญาสืบเนื่องจากเรื่องนี้ ในข้อหากบฏ หากถูกตัดสินมีความผิดอาจถูกจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และยังมีข้อหาจากสังคมประชาธิปไตยที่ชาวเกาหลีใต้ภาคภูมิใจ ที่ผลักดันชาติให้หลุดพันจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยอันดับต้นๆ ของโลก แต่แล้วนายยุนกลับหันไปปลุกผีเผด็จการที่ตายไปแล้วหลายทศวรรษ กฎอัยการศึกที่เป็นเดิมพันพลิกฟื้นชีวิตทางการเมือง นำมาสู่บทสุดท้ายในชีวิตการเมืองของเขา.-สำนักข่าวไทย