26 พ.ค. – รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของศูนย์วิจัยโครงการทดสอบและพัฒนาพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซล
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ติดตามสถานที่การจัดงานพืชสวนโลก และติดตามงานวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์ม พร้อมด้วยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ อุดรธานี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายนิพนธ์ ภาชนะวรรณ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ ผลการดำเนินงานของศูนย์วิจัยโครงการทดสอบและพัฒนาพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซล โครงการวิจัยพัฒนาและขยายผลนวัตกรรมการผลิตปาล์มน้ำมัน โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตมะม่วงนอกฤดูจังหวัดอุดรธานี งานผลิตพันธุ์พืชการขยายผลชีวภัณฑ์สู่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุดรธานี โครงการศูนย์สาธิตการพัฒนาเกษตรแบบผสมผสานบ้านยามกาน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และงานสารวัตรเกษตร และปล่อยขบวนรถสารวัตรเกษตร ออกปฏิบัติงานควบคุมปัจจัยการผลิตให้มีคุณภาพ รับฤดูกาลผลิตใหม่
มนัญญา กล่าวด้วยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตร เร่งรัดดำเนินการงานวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยไปพัฒนาการผลิตพืชของเกษตรกร ให้เป็นการผลิตที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน และยกระดับสู่การผลิตแบบอินทรีย์ ในกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรในพื้นที่ ทำการเกษตรได้อย่างเข้มแข็ง
งานวิจัยที่สำคัญของศูนย์วิจัยฯ เช่น พืชมันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ถั่วลิสง และบัวหลวง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชสร้างรายได้ให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และบริเวณจังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยฯ มีโครงการทดสอบและพัฒนาพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล โดยนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตรทั้ง 6 พันธุ์ คือ พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1-6 มาทดสอบปลูกเปรียบเทียบผลผลิตพบว่าให้ผลผลิตดี และในปี 2562- 2564 มีการวิจัยและขยายผลนวัตกรรมการผลิตปาล์มน้ำมัน ยกระดับผลผลิต 1 ชุมชนต้นแบบ 20 แปลงรวม 100 ไร่ โดยศูนย์วิจัยฯ จะแนะนำการปลูกทุกขั้นตอน ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
ขณะที่นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัย ยังผลิตพืชพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร 2 ชนิด ได้แก่ อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 และพันธุ์ขอนแก่น 6 กระจายให้เกษตรกรในพื้นที่ นำไปปลูกได้เป็นพื้นที่กว่า 900 ไร่ ด้วย. – สำนักข่าวไทย