กรุงเทพฯ 21 ก.พ.-สภาพัฒน์ เผยจีดีพี ไตรมาส 4/2564 ขยายตัว 1.9% ขณะที่เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัว 1.6% คาดเศรษฐกิจปี 2565 ขยายตัวได้ 3.5-4.5% จากปัจจัยการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว ส่งออกขยายตัว และการลงทุนภาครัฐ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส4 /2564 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 ว่า จีดีพีไตรมาส 4/2564 ขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2564 ร้อยละ 1.8 (%QoQ_SA) รวมทั้งปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.2 ในปี 2563โดยในไตรมาสนี้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.084 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 47.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 91.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการคลี่คลายลงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และการดำเนินมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 342,024 คน เพิ่มขึ้นจากฐานต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ (Test & Go) และการผ่อนคลายมาตรการเดินทางของหลายประเทศ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 26.25 สูงกว่าร้อยละ 5.46 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 32.49 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.64 ต่ำกว่าร้อยละ 2.25 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 1.86 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.3 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (7.0 หมื่นล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9,644,256.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.6 ของ GDP
รวมทั้งปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท (5.06 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 232,176.0 บาทต่อคนต่อปี (7,255.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และ (4) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP
ส่วนรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
- การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2564 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 4.3
ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการลดลงในความรุนแรงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2564 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการลดลงของกรอบวงเงินรายจ่ายประจำภายใต้กรอบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อเทียบกับกรอบในปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งการปรับองค์ประกอบให้สอดคล้องกับแผนงานและโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท - การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 3.4 ในปี 2564 โดย
(1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในปี 2564 และปรับลดลงจากร้อยละ 4.2 ในการประมาณการครั้งก่อน และ (2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับร้อยละ 3.8 ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ - มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 18.8 ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดปริมาณ
การส่งออกและการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออก ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับลดลงจากร้อยละ 4.4 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกในปี 2565 มีแนวโน้มจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.0 – 1.0 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมัน ขณะที่การส่งออกบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการส่งออกสินค้าทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.0 ในการประมาณการครั้งก่อน และร้อยละ 10.4 ในปี 2564
ส่วนประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 โดยการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว(3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ (4) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจูงใจในการชำระหนี้และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ (5) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า (6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน(7) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (8) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ และ (9) การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ.-สำนักข่าวไทย