สธ.30 ก.ค.-ปลัด สธ.แจงสถานการณ์โควิดระบาดหนักเหมือนกันทั่วโลก เร่งกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ไปทุกภูมิภาคแล้ว ขณะที่สถานการณ์เตียงล้น ใช้มากกว่า 80% แล้ว ลุ้นมาตรการล็อกดาวน์ช่วยลดจำนวนป่วยหนักและเสียชีวิตลงภายใน 2-4 สัปดาห์
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ขณะนี้พบว่ามีการระบาดรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง มีการติดเชื้อมากกว่า 600,000 คน/วัน มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โดยที่สหราชอาณาจักร ซึ่งมีประชากรใกล้เคียงกับไทย ก็มีการติดเชื้อมาก ส่วนในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย ก็ติดเชื้อจำนวนมาก
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย มีผู้ป่วยอยู่ในระบบที่กระทรวงสาธารณสุขต้องดูแลกว่า 200,000 คน สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าทรงๆ มีผู้ป่วยติดเชื้อมากและปานกลางจำนวนมาก จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการติดเชื้อสูงขึ้น ทั้งการสนับสนุนการทำงานที่บ้าน งดการออกจากบ้าน พร้อมให้มีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อย่างรวดเร็ว โดยมีการสำรองยาไว้ในเดือนสิงหาคม 40 ล้านเม็ด, กันยายน 40 ล้านเม็ด และกระจายยาไปในระดับภูมิภาคแล้ว เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้เข้าถึงยาอย่างรวดเร็ว ทั้งที่อยู่ในระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI)
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในภาพรวมทั้งประเทศ เดิมมีประมาณ 175,291 เตียง ขณะนี้มีอัตราการใช้เตียง 80% โดยที่ กทม.มีจำนวนเตียง 40,251 เตียง พบว่ามีการใช้เตียงไป 35,253 เตียง หรือใช้ไปแล้ว 90% จะเห็นว่าการติดเชื้อประจำวันมีผู้ป่วยเข้ามาจำนวนมาก ทำให้เตียงไม่เพียงพอ ขณะนี้ไม่สามารถเพิ่มเตียงได้อีกแล้ว จึงต้องให้ผู้ป่วยติดเชื้ออยู่กับที่, อยู่ที่บ้านมีการเชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุข หรือ Home Isolation หรือ Community Isolation พร้อมมีการใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทส คิท เพื่อให้การตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อรวดเร็ว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ SEIR มีการจำลองสถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตออกเป็นเส้นกราฟ 5 สี แบ่งเป็นสถานการณ์จริง และเปรียบเทียบกับการล็อกดาวน์ จำลองสถานการณ์ออกไปในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า พบว่าหากไม่มีการล็อกดาวน์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อสูงเกินวันละ 40,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 500 คน/วัน จะพบผู้ป่วยสูงสุดอยู่ที่ 14 ก.ย. ตายสูงสุดในวันที่ 28 ก.ย. หรือหากมีการล็อกดาวน์ และ WFH ลดการติดเชื้อได้ 20% นาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะเหลือ 30,000 คน/วัน และเสียชีวิต 400 คน/วัน จุดสูงสุดที่พบผู้ป่วย คือ ในช่วงต้นเดือน ต.ค. และเสียชีวิตสูงสุด 26 ต.ค. แต่หากเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์ ทุกคนร่วมมือมากกว่านี้ ลดการติดเชื้อ 25% นาน 1 เดือน จำนวนผู้ป่วย 20,000 คน/วัน และเสียชีวิตยิ่งลดลง เหลือ 200 และ 100 คน/วัน
นพ.โอภาส กล่าวว่า หากไม่ทำมาตรการล็อกดาวน์เลย ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะสูงกว่านี้ ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงสำคัญในการลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่การล็อกดาวน์ ประสิทธิภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง การใช้มาตรการล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่าล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์ มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และ สธ.จะนำเสนอ ศบค.ต่อไป.-สำนักข่าวไทย