สมุทรปราการ 8 ก.ค. – อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เตรียมตั้งจุดรับคำร้องจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานโฟมซอยกิ่งแก้ว ขณะที่สถานการณ์ในภาพรวมพบสัญญาณดี หลังเจ้าหน้าที่นำสารเคมีชนิดหนึ่งเข้าไปลดอุณหภูมิในถังเก็บสารเคมี
เวลาประมาณ 07.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดเข้าตรวจสอบและเก็บกู้สารเคมีไวไฟได้รับสัญญาณที่ดี หลังเมื่อคืนเจ้าหน้าที่ลงมือควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่ และหยุดภารกิจประมาณเที่ยงคืน ด้วยการลำเลียงสารเคมี DEHA เข้าไปในถังบรรจุสารเคมีไวไฟที่อยู่ในถังเก็บขนาดใหญ่ เพื่อให้สารเคมีไวไฟนั้นกลายเป็นสภาพเป็นของเหลวธรรมดาที่ไม่ติดไฟ และเตรียมขนย้ายออกไปกำจัด
เจ้าหน้าที่ผู้คุมการปฏิบัติงานเปิดเผยว่า อุณหภูมิของสารเคมีภายในถังที่เฝ้าระวังอยู่ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าน่าจะเคลียร์พื้นที่ได้ตามแผนที่วางไว้ แต่อาจมีอุปสรรคเล็กน้อย คือ การลำเลียงสาร DEHA เพราะทางเดินมีซากปรักหักพังกีดขวางอยู่
สำหรับภารกิจเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่ลำเลียงสาร DEHA เข้าไปในพื้นที่ ปรากฏว่ามีผู้ได้รับผลกระทบในระบบทางเดินหายใจ 2 คน เจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งโรงพยาบาล ล่าสุดอาการปลอดภัย
เตรียมตั้งจุดรับคำร้องชาวบ้านที่เดือดร้อน
ส่วนที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.สมุทรปราการ นายอำเภอบางพลี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ปภ. และ อบต.บางพลี ร่วมกันหารือแนวทางการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นอยู่ระหว่างหารือ โดยมีรายงานว่าจะตั้งจุดรับคำร้องจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน
สำหรับยอดผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความที่ สภ.บางแก้ว ตั้งแต่วันที่ 5 -7 กรกฎาคม พบว่ามีมากถึง 570 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 251 ล้านบาท ส่วนชาวบ้านที่อาศัยตั้งแต่ซอยกิ่งแก้ว 19-25 ในรัศมี 1 กิโลเมตร ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่
ส่วนที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต ซึ่งมีการย้ายผู้ป่วยตั้งแต่วันเกิดเหตุ ล่าสุดเตรียมพร้อมสถานที่ด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทั่วโรงพยาบาล พร้อมทำความสะอาดจุดต่างๆ โดยเริ่มให้บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนเข้ามาเตรียมพร้อมให้บริการในแผนก, ศูนย์แพทย์เฉพาะทาง และคลินิกต่างๆ ในโรงพยาบาล หลังจากนี้หากพร้อมให้บริการตามปกติจะทำการแจ้งอีกครั้ง
วสท.เข้าตรวจบ้านที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้โรงงาน
เจ้าหน้าที่ระดมวิศวกรอาสาปูพรมตรวจบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโรงงานระเบิด เพื่อสร้างความปลอดภัย ก่อนประชาชนย้ายกลับเข้าอยู่อาศัย
นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำวิศวกรอาสา 25 คน ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ในรัศมี 1 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ เพื่อจัดโซนนิ่งความปลอดภัย หลังจังหวัดสมุทรปราการ อนุญาตให้ประชาชนบางส่วนสามารถกลับเข้าอยู่อาศัยได้
ส่วนใหญ่พบว่าบ้านเสียหายจากแรงระเบิด จึงต้องได้รับการประเมินความปลอดภัยก่อนที่จะเข้าไปอยู่อาศัย ซึ่งวิศวกรอาสาจะประเมินความเสียหายทางกายภาพ 4 ข้อ ทั้งรอยแตกร้าวหรือความเอียง ตำแหน่งรอยร้าวของเสาและรอยร้าวแนวนอน รอยร้าวบริเวณคอเสาและคาน และเสียงลั่น รวมถึงการตกร่วงของคอนกรีต
ด้านเจ้าของบ้านคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า บ้านตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 1.8 กิโลเมตร รับรู้ถึงแรงระเบิดและต้องอพยพออกมา โดยเพิ่งกลับมาสำรวจบ้านเมื่อวาน และพบว่าเสียหายหลายจุด ทั้งฝ้าหน้าบ้านบริเวณโรงจอดรถ และตัวบ้านโดยมีรอยร้าวหลายจุด ทำให้กังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่ทราบว่าแรงระเบิดกระทบถึงโครงสร้างหรือไม่
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้าตรวจสอบบริเวณโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด หลังช่วงเย็นวานนี้เจ้าหน้าที่ได้ฉีดพ่นสารออร์แกนิกเปอร์ออกไซด์ เพื่อให้สารสไตรีน โมโนเมอร์ มีสภาพหนืดและติดไฟยากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษจะตรวจสอบทั่วพื้นที่ เพื่อให้แน่ใจว่าสารสไตรีน ทั้งที่อยู่ในถังเก็บและที่หลุดรอดออกมาถูกฉีดพ่นด้วยสารออร์แกนิกเปอร์ออกไซด์อย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้เกิดไฟปะทุขึ้นมาซ้ำอีก จากนั้นจึงจะพิจารณาวิธีการจัดเก็บหรือเคลื่อนย้าย
สำหรับการตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นวันที่ 3 พบว่าเป็นปกติแล้ว แต่ยังเฝ้าระวังรัศมี 1 กิโลเมตรแรก พร้อมตรวจวัดคุณภาพอากาศและน้ำอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าการควบคุมสารเคมีอันตรายในโรงงานหมิงตี้ เคมิคอลว่า พรุ่งนี้ (9 ก.ค.) จะทราบผลสารตัวอย่างที่ส่งไปห้องตรวจทั้งสารสไตรีน โมโนเมอร์, บีโอซี รวมไปถึงคราบน้ำมันว่ามีมากน้อยเพียงใด ส่วนมาตรการควบคุมการระบายน้ำพื้นที่โรงงาน ล่าสุดกรมชลประทานได้ปิดประตูระบายน้ำฝั่งตะวันตกเรียบร้อย ขณะเดียวกันองค์กรท้องถิ่นได้ปิดประตูระบายน้ำฝั่งตะวันออก เพื่อคุมไม่ให้สารปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม สารสไตรีน เป็นสารที่มีความหน่วงเฉพาะน้อยกว่าน้ำ ดังนั้นจะลอยอยู่เหนือน้ำและไม่ผสมกัน รวมถึงเป็นสารที่มีจุดเดือดต่ำ ดังนั้นโอกาสระเหยไปในอากาศจึงมีสูง หากตกค้างในท่อระบายน้ำ คาดว่าภายใน 24-48 ชั่วโมง จะระเหยไป ส่วนค่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายก็จะทราบพร้อมกับผลการตรวจดังกล่าวเช่นกัน คาดว่าน่าจะอยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย. – สำนักข่าวไทย