กรุงเทพฯ 4 เม.ย. – นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศระดับแนวหน้าของไทย มีความเห็นตรงกันว่า หากผู้นำชาติมหาอำนาจไม่เร่งลดระดับความตึงเครียดสถานการณ์โลก จะมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดมหาสงครามโลก ครั้งที่ 3
ท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ร้อนแรง ทั้งสงครามหลายจุดทั่วโลก และนโยบายของผู้นำชาติมหาอำนาจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “เจาะลึกเกมอำนาจ : ทรัมป์ ปะทะ สี จิ้นผิง ใครกำหนดเกมในภูมิภาครัสเซีย เกาหลี และอาเซียน” โดยมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ร่วมเป็นองค์ปาฐกจากหลายสถาบัน คือ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ดร.ภราดร รังสิมาภรณ์ นักการทูตชำนาญการพิเศษ กองยุโรปตะวันออก กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียและยูเรเซียศึกษา และผศ.ดร. กมล บุษบรรณ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาเกาหลีศึกษา (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการทั้ง 4 มีความเห็นตรงกันว่า หากโลกยังคงตึงเครียดเช่นนี้ต่อไป มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 และจะไม่เกิดเป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากโลกจะไม่มีอะไรเหลือเพราะเป้นการห้ำหั่นกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ระบุว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลโลกและไทยกำลังเข้าสู่สภาวะใหม่ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมอ้างอิงคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติหลายคน ที่วิเคราะห์ว่าขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่ภาวะสงครามแบบเบ็ดเสร็จ อันจะนำไปสู่มหาสงครามโลกครั้งที่ 3 เนื่องจากมหาอำนาจจะเผชิญหน้ากัน ไม่เฉพาะแต่สหรัฐกับจีน แต่จะรวมไปถึงนานาประเทศทั่วโลก หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าปีนี้สงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะยังไม่สงบลงง่าย ๆ ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุด คือ การดำเนินความพยายามให้ลดระดับลงจากปัจจุบัน เพื่อชะลอการเกิดมหาสงคราม และช่วยให้พอมีช่องทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่น ปัญหาแก๊ง call center
ขณะที่ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา กล่าวถึงกรณีจีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐว่า เป็นเรื่องจริง แต่หากย้อนมองไปในประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าการที่จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐเอง เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ 1990 สหรัฐมีนโยบายให้สิทธิพิเศษทางการค้า ภาษีและศุลกากร กับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งผลักดันให้จีน ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก สถานการณ์ที่ต้องจับตาดูต่อไป คือ จีนจะตอบโต้นโยบายสงครามการค้าล่าสุดของสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไร แต่ไม่ว่าจะตอบโต้อย่างไร จีนก็ต้องได้รับผลกระทบเช่นกัน ขณะเดียวกัน หากมองปัญหาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบัน เห็นชัดว่า สหรัฐ พยายามหาเรื่องให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ หรือ มหาสงคราม (Great War) ด้วยการยั่วยุผ่านจุดเปราะบางต่าง ๆ ในโลก เช่น ประกาศสงครามทางการค้า และการเข้าไปข้องเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่วนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้นั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุใด ๆ บนคาบสมุทรเกาหลีเด็ดขาด เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของจีน นอกจากนี้ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ยังให้ความเห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐใช้นโยบายแข็งกร้าวเข้มข้น และยังคงยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ คือ สหรัฐมีฐานทัพอยู่ทั่วโลก
ดร.ภราดร รังสิมาภรณ์ นักการทูตชำนาญการพิเศษ กองยุโรปตะวันออก กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียและยูเรเซียศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์โลกปัจจุบัน รัสเซีย จีน และสหรัฐ ยังคงเป็นผู้เล่นที่สำคัญ แต่รัสเซีย ดูจะเป็นผู้คุมเกมมากกว่า สิ่งสำคัญที่บรรดาผู้นำชาติมหาอำนาจต้องพิจารณา คือ ข้อขัดแย้งปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ มิฉะนั้น ก็มีแนวโน้มที่ความขัดแย้งต่าง ๆ อาจนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 และหากสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นจริง คงไม่มีครั้งที่ 4 อีก เพราะโลกคงไม่เหลืออะไรอีกต่อไป เนื่องจากจะเป็นสงครามที่ห้ำหั่นกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์

ในเวทีเสวนาครั้งนี้ ผศ.ดร. กมล บุษบรรณ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาเกาหลีศึกษา (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองความสำคัญของประเทศอำนาจขนาดกลาง (Middle Power) อย่างเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นประเทศที่สามารถผ่านพ้นวิกฤตจากสถานการณ์โลกต่าง ๆ ได้อยู่เสมอ และเติบโตขึ้นทุกครั้ง ทั้งนี้ เพราะเกาหลีใต้ มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และทรัพยากรมนุษย์ มีกลยุทธ์สำคัญ คือ เผยแพร่วัฒนธรรม soft power นอกจากนี้ ยังไม่เอาตัวเองผูกกับการเมืองโลก ความเป็น Middle Power ที่ดี มีกลยุทธ์แข็งแกร่ง ทำให้เกาหลีใต้ไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ สู่ความเป็น Major Power เวทีโลก
ความเป็นไปได้ที่นานาประเทศในกลุ่มโลกโต้ หรือ Global South จะดำเนินการเพื่อความอยู่รอด หลังจากรัฐบาลทรัมป์ประกาศนโยบายการค้าล่าสุด มี 3 แนวทาง คือ แต่ละประเทศจะเจรจาต่อรองโดยตรงกับสหรัฐ, นานาประเทศจะรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับสหรัฐ และแนวทางที่สุด ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นคือ การเผชิญหน้า โดยตรง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่บรรดาประเทศกำลังพัฒนา จะรวมตัวกันตอบโต้สหรัฐมากขึ้นผ่านกรอบสมาชิก เช่น BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และ BIMSTEC กลุ่มประเทศความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล
ส่วนประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศอำนาจขนาดกลาง ควรจะดำเนินบทบาทตั้งรับอย่างไรในสถานการณ์โลกปัจจุบัน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ชี้ว่า ควรเร่งหาผลกระทบและความเสียหาย รวมทั้งแก้กฎหมายที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าด้านการค้าระหว่างประเทศต่อไปได้ ขณะที่ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาระบุชัดว่า ประเทศไทยต้องมีผู้นำและนโยบายที่ชัดเจน ลงมือเร็ว.-811