กรุงเทพฯ 6ก.ค.-สภาวิศกร หวั่นอันตรายจากสารเคมีตกค้าง อาจเกิดการปะทุได้อีก แนะประชาชนอย่าเพิ่งกลับเข้าพื้นที่ในเขตรัศมี 5 กม.กำชับต้องตรวจสอบโครงสร้างอาคารบ้านเรือนและตั้งระบบตรวจคุณภาพอากาศและสารพิษ ก่อนกลับเข้าไปอยู่อาศัย
สภาวิศกร เปิดวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกย่านกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกรและอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)กล่าวว่า กรณีอุบัติเหตุเพลิงไหม้และเกิดการระเบิดของโรงงานผลิตโฟมพอลิสไตรีน ในซอยกิ่งแก้ว 21 จ.สมุทรปราการ ก่อให้เกิดกลุ่มควันพุ่งสูงต่อเนื่องนานนับสิบชั่วโมง ถึงแม้ล่าสุดเจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว แต่สิ่งที่ต้องเตือนประชาชน ให้ระวังปัญหาจากมลพิษที่ยังหลงเหลือยู่จากการเผาไหม้ ต้องแจ้งเตือนว่าพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ รวมถึงโครงสร้างบ้านเรือนโดยรอบต้องได้รับการตรวจสอบก่อนกลับเข้าอาศัยด้วย
โดยสภาวิศวกรมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.พื้นที่บริเวณโรงงานกิ่งแก้ว ยังให้ถือว่าเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา เนื่องจากยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีสารเคมีหลงเหลือเท่าใด
2.ต้องติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศและระบบเซ็นเซอร์วัดปริมาณสารพิษ เพื่อนำมาจัดทำแผนที่แบบละเอียด โดยเฉพาะพื้นที่ 5-10 กม. สำหรับวางแผนความปลอดภัยและรายงานผลอย่างตรงไปตรงมา
3.เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบต. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำบัญชีฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ช่วยประเมินความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
4.นโยบายในการจัดการโรงงานอย่างเป็นธรรมรอบด้าน เพื่อเอื้อให้เกิดความปลอดภัยต่อการจัดการ และชุมชนโดยรอบ
ด้าน รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมี กล่าวว่า อันตรายที่ยังต้องเฝ้าระวังจากเหตุการณ์นี้ คาดว่าจะยังมีสารเคมีอันตรายหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะสารเพนเทน และโพลีสไตรีนเรซิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีอันตรายคุณสมบัติติดไฟง่าย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระเบิด
ทั้งนี้ แม้การควบคุมเพลิงจะทำได้แล้ว แต่ยังเชื่อว่าอาจมีสารเคมีเหล่านี้ตกค้างอยู่ในพื้นที่อีกบางส่วน ซึ่งหากไม่มีการจัดเก็บ หรือเก็บกู้ที่ถูกต้อง อาจเสี่ยงเกิดอันตรายขึ้นได้อีก เนื่องจากเป็นสารที่ติดไฟง่ายเพียงแค่มีการเสียดสี หรือประกายไฟเพียงเล็กน้อยก็สามารถติดไฟได้ ซึ่งการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดก๊าซพิษกระจายโดยรอบอีกเช่นกัน ดังนั้น จำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ที่ปลอดภัยก่อนชั่วคราว จน กว่าจะมีการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของอากาศ แหล่งน้ำบนดิน แหล่งน้ำใต้ดินและไม่ควรใช้น้ำในแหล่งธรรมชาติชั่วคราว เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากสารเคมีปนเปื้อน รวมทั้งหากจำเป็นต้องกลับเข้าพื้นที่ต้องระวังอันตรายจากสารเคมีที่อาจส่งผลต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบหายใจ
ขณะที่ รศ.เอนก ศิริพานิชกร รองประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ สภาวิศวกร กล่าวว่า การระเบิดมีความรุนแรง ซึ่งอาจกระตุ้นให้โครงสร้างอาคารที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่รอบจุดเกิดเหตุ 5กิโลเมตร จะต้องตรวจสอบโครงสร้าง ความเสียหายทั้งหลังก่อนกลับเข้าอาศัย เนื่องจากหากบ้านได้รับผลกระทบโครงสร้างที่รุนแรง เช่น ผนังหรือเสาบ้าน เกิดการกระเทาะ สึกร่อน โดยเฉพาะหากพบรอยเฉือนแนวทะแยง การสึกร่อนที่รุนแรง ลักษณะนี้อันตรายอย่างยิ่งต่อโครงสร้าง ไม่ควรกลับเข้าอาศัยหากยังไม่ไม่ได้รับการซ่อมแซม
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สภาวิศวกรเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ฐานข้อมูลดิจิทัลหรือบิ๊กเดต้า คุณภาพอากาศของสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล.ที่มีเซนเซอร์ติดตามข้อมูลระดับคุณภาพอากาศและแจ้งเตือนปัญหามลพิษในกรุงเทพมหานคร พร้อมแสดงข้อมูลต่างๆแบบเรียลไทม์ เช่น ค่าฝุ่น PM2.5 PM10 ค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ เพื่อวางแผนช่วยเหลือหรืออพยพประชาชนกลุ่มเสี่ยง ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพในระบบทางเดินหายใจออกจากพื้นที่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตร ได้อย่างปลอดภัยด้าน เพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ก่อนเพื่อความปลอดภัย หากยังมีคุณภาพอากาศที่อันตราย ยังไม่ควรกลับเข้าพื้นที่ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยทางระบบหายใจ .-สำนักข่าวไทย