ทำเนียบรัฐบาล 18 ก.พ.-ศบค.พบติดเชื้อใหม่ 150 ราย ปรับระดับพื้นที่เฝ้าระวังหลังสถานการณ์ดีขึ้น พร้อมฉีดวัคซีนทั้งคนไทยและต่างชาติ ชี้ฉีดวัคซีน เตรียมเสนอผ่อนคลายเพิ่ม 22 ก.พ.นี้
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก เพิ่มขึ้น 392,293 ราย โดยยอดผู้ติดเชื้อรวม 110,429,980 ราย และเสียชีวิต 2,440,928 ราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 114 สำหรับยอดผู้ติดเชื้อของสหรัฐอเมริกาลดลงจากเคยพบการติดเชื้อวันละ 3-4 แสนรายเหลือเพียงวันละกว่า 7 หมื่นราย ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสหรัฐระบุว่า การฉีดวัคซีนไม่มีผลต่อการติดเชื้อ เพราะการฉีดวัคซีนต้องฉีดต่อเนื่องกัน 2 โดส และต้องฉีดให้ได้ 70% ของประเทศจึงจะถือได้ว่าเป็นการป้องกันหมู่
“ส่วนยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศ พบติดเชื้อรายใหม่ 150 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 38 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชม 104 ราย และจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันจากรัฐจัดให้ 8 ราย ประกอบด้วย ผู้ที่เดินทางมาจาก แอฟริกาใต้ 2 ราย บาห์เรน 2 ราย ปากีสถาน บังกลาเทศ สาธารณรัฐยูกันดา และไนจีเรีย ประเทศละ 1 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 25,111 ราย วันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 82 รายคงเดิม ส่วนผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ที่จังหวัดสมุทรสาคร 26 ราย กรุงเทพมหานคร 5 ราย ปทุมธานี 3 ราย มหาสารคาม 1 ราย พระนครศรีอยุธยา 1 ราย ตาก 1 ราย นครปฐม 1 ราย” ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่และยอดสะสมพบว่า กรุงเทพมหานคร ผู้ติดเชื้อ 5 ราย ตลอดสัปดาห์ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ขณะที่ปทุมธานีพบผู้ติดเชื้อ 45 ราย ลดลงจากเมื่อวานนี้(17 ก.พ.) ที่มีจำนวน 82 ราย ส่วนสมุทรปราการ ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมา 2 วัน และจังหวัดระยอง จันทบุรี นนทบุรี ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมา 4 วันแล้ว ส่วนการพบผู้ติดเชื้อในประเทศรายสัปดาห์จะพบว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม (24-30 ม.ค.) พบผู้ติดเชื้อ 17 จังหวัด ต้นเดือนกุมภาพันธ์ (31 ม.ค. – 6 ก.พ.) พบผู้ติดเชื้อ 16 จังหวัด ช่วงวันที่ 7 -13 กุมภาพันธ์ พบผู้ติดเชื้อ 11 จังหวัด และในสัปดาห์นี้ คือ 14-18 ก.พ. 19 จังหวัด ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9-18 กุมภาพันธ์ มีจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 7 วัน 44 จังหวัด จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ 3-4 วัน 6 จังหวัด และจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 1-3 วัน 13 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อเลย 14 วัน
ผู้ช่วยโฆษ กศบค. กล่าวถึงการตรวจสอบในพื้นที่ปทุมธานีว่า พบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงตลาดพรพัฒน์ 359 ราย และทีมควบคุมโรคได้กระจายไปตรวจในพื้นที่ตลาดสุชาติ ตลาดรังสิต และพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน โดยสุ่มตรวจกว่า 4,000 ตัวอย่าง พบผู้เชื้อ 437 ราย เชื่อมโยงไปอีก 9 จังหวัด คือนครนายก 7 ราย กรุงเทพมหานคร 4 ราย เพชรบุรี 4 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สระบุรี 3 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย อ่างทอง 2 ราย นครราชสีมา 1 ราย และนนทบุรี 1 ราย ซึ่งการจะปิดตลาดเพื่อไม่ให้ดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ตลาดต้องมีมาตรการคัดกรองและรายงานอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประชาชนที่ไปตลาดควรใช้เวลาอย่างรวดเร็วและวางแผนการไปตลาดก่อน
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศว่า จากที่ตรวจคัดกรองพบว่าผู้ติดเชื้อแต่ละคนจะตรวจพบเชื้อไม่เท่ากัน บางคนจะตรวจพบเชื้อในวันที่ 3 วันที่ 4 และวันที่ 5 ของการอยู่ในสถานกักกันของรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่สถานกักกันจะตรวจคัดกรอง 3 ช่วง คือตั้งแต่วันแรก วันที่ 3 ถึงวันที่ 5 และก่อนออกจากสถานกักกัน ยืนยันว่าผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศจำเป็นต้องเข้าสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด แม้บุคคลเหล่านี้จะผ่านการตรวจมาจากประเทศต้นทางแล้ว เนื่องจากเมื่อเดินทางมาถึงพบว่า บางคนตรวจพบในครั้งแรก จึงยังจำเป็นต้องกักตัว 14 วัน
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ได้พิจารณาปรับการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ โดยกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังจาก 35 จังหวัดเป็น 54 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 17 จังหวัดเป็น 14 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 24 จังหวัดเป็น 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร
“คณะกรรมการฉุกเฉินฯ หารือเรื่องการฉีดวัคซีน โดยห็นตรงกันว่าจะต้องกระจายวัคซีนให้ทุกคนในประเทศ เข้าถึงวัคซีนคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงชาวต่างชาติที่ต้องดูแลในมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อวัคซีนล็อตแรกมาถึงประเทศในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะถือว่าเป็นระยะที่ 1 ที่จะฉีดคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมในกลุ่มเสี่ยงสูง จากนั้นจะฉีดในระยะที่สอง ซึ่งจะมีวัคซีนมากขึ้น ที่จะฉีดให้ภาคเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวและบริการ ขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีน เป็นเพียงการป้องกันตัวเอง ไม่ใช่การลดการแพร่เชื้อ ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไปไหนมาไหนได้หมดโดยไม่ป้องกัน แต่ต้องคงมาตรการป้องกันเช่นเดิม รวมทั้งจะพิจารณาการกระจายวัคซีนในระดับจังหวัด และมาตรฐานของสถานที่ฉีดให้เหมือนกันทั้งประเทศ” พญ.อภิสมัย กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีเอกชนจะนำเข้าวัคซีนมาฉีดเองได้หรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มีข้อเสนอจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งศบค.เห็นด้วยให้ภาคเอกชนจัดหาวัคซีนได้ แต่ควรเป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ที่ควรเป็นสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เพราะหากเกิดการแพ้วัคซีน อาจจะต้องกู้ชีพ ส่วนวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนอย.ว่ามีความปลอดภัย
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ที่หารือในที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ จะเสนอให้ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมีความหวังและกำลังใจ หากมีมาตรการผ่อนคลายแล้ว จะเปิดร้านอาหารได้ การแสดงดนตรีสามารถทำได้ ขอให้ดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง สำหรับการดำเนินการขององค์กรหรือร้านค้าต่าง ๆ ขอความร่วมมือผู้ค้าขายและผู้บริการดำเนินตามมาตรการให้ดีที่สุด เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้ทั้งประเทศ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานให้ศบค.ทราบแล้วเรื่องแพทย์เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 และจะแถลงเวลา 15.00 น. วันนี้ (18 ก.พ.).-สำนักข่าวไทย