สำนักข่าวไทย 17 ม.ค.- อาจารย์แพทย์ธรรมศาสตร์เปิดสถิติประสิทธิภาพการใช้วัคซีนซิโนแวคในบราซิล พบป้องกันการเกิดโรคในกลุ่มผู้ที่แสดงอาการได้มากถึง 78% ส่วนการป้องกันในกลุ่มผู้ที่แสดง-ไม่แสดงอาการอยู่ที่ 50% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
นพ.สุทธิชัย วิสุทธิชัยกิจ ภาควิชาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกระแสความไม่มั่นใจต่อประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค ซึ่งประเทศไทยเตรียมนำเข้ามาจากประเทศจีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงว่า หากพิจารณาจากตัวเลขการใช้งานในประเทศบราซิลจะพบว่า ซิโนแวคสามารถป้องกันการเกิดภาวะโรคที่มีอาการได้ถึง 78% ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพ
สำหรับตัวเลขประสิทธิภาพ 50% ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้ เป็นการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ติดเชื้อทั้งผู้ที่มีอาการหรือไม่มีอาการ ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของวัคซีน เพราะขนาดวัคซีนไข้หวัดหมูในปี 2009 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อทั้งผู้ที่แสดงและไม่แสดงอาการเพียง 40-60% เท่านั้น
“เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งป้องกันการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ดีประมาณ 70% แต่ถ้าว่าด้วยเรื่องของการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเลยตัวเลขก็จะตกลงมาอยู่ประมาณ 50%” นพ.สุทธิชัย กล่าว
นพ.สุทธิชัย กล่าวต่อไปว่า ซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อไวรัสที่ตายสนิทแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่เคยมีการใช้มาก่อนแล้ว เช่นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นทางการแพทย์ประเทศไทยจึงมีความคุ้นเคยมานานแล้ว
“ในทางการแพทย์สิ่งที่ต้องการมากที่สุดและเป็นประเด็นหลักของการฉีดวัคซีน คือป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิต ลดความรุนแรงของโรค และลดการนอนโรงพยาบาล ซึ่งจากการศึกษาทดลองในคนหลักหมื่นคน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด แต่ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนยังไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรงที่เกิดจากตัวโรค” นพ.สุทธิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยความหนาแน่นของประชากรซึ่งมีผลต่อการเว้นระยะห่างและความเข้มข้นของมาตรการในเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ ซึ่งหากการเว้นระยะห่างและมาตรการไม่ดีพอ การแพร่กระจายเชื้อย่อมเกิดได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนก็อาจจะน้อยลงตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย