10 ม.ค.-สธ. ขอประชาชนอย่าสับสนข้อมูลวัคซีนจากโซเชียล ย้ำกระทรวงสาธารณสุขมีกระบวนการคัดสรร “วัคซีน” โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พร้อมจัดสรรให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ราว 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่า 73 ล้านคน
นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับทั้ง อเมริกาบราซิล รัสเซียและประเทศแถบยุโรป ส่วนสถานการณ์ในไทย ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 10,298ราย อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยหายป่วยแล้วถึง 6428 ราย และอัตราผู้เสียชีวิตของไทย ยังอยู่ในประเทศที่อัตราต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยจำนวนผู้ป่วยระลอกใหม่ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 63 ถึง 10 มกราคม 64 ยังคงอยู่ในโรงพยาบาล 1811 ราย สรุปสถานการณ์ค่อนข้างคงตัว และมีแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและทุกฝ่ายกำลังร่วมมือใช้มาตรการทางสังคมและสาธารณสุขให้เกิดผลมากที่สุด
นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผย ว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ แต่หลักการฉีดวัคซีน ก็เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้คน ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมี ภูมิคุ้มกันสูงถึง 100% แต่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับประชาชนในภาพรวม เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดในชุมชน โดย การเลือกใช้วัคซีนมีหลักการคือ
- คุณสมบัติของวัคซีน
- ราคาต้องเหมาะสมไม่แพงเกินไป
- จำนวน วัคซีนที่ ผู้ผลิตสามารถผลิตและไทยสามารถจัดสรรได้
ซึ่งทางเลือกที่ดีของไทยคือต้องเจรจาจัดสรรหาวัคซีนหลายชนิด ขณะที่ไทยมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ที่มีกรมควบคุมโรค,อย.,กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯลฯ ที่สามารถตรวจสอบ วิเคราะห์คุณสมบัติ วัคซีนให้ถูกต้องครบถ้วน ถือได้ว่าไทยมีกลไกในการจัดหาวัคซีนที่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการจัดสรร วัคซีน การมีข้อมูลที่หลากหลายในสื่อโซเชียล เช่นเอกชนนำเข้าวัคซีน ฯลฯ นั้น ขอประชาชนอย่าสับสนเพราะกระทรวงสาธารณสุขโดยคณะกรรมการ จะสามารถจัดสรรให้ประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงว่า วัคซีนโควิด-19 กลุ่มที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดตามลำดับ คือ
- ไบโอเอ็นเทค ของอเมริกา+เยอรมันนี
- โมเดอนา ของอเมริกา
- แอสตราเซเนกาของอังกฤษ+สวีเดน
- สปุดนิค ของรัสเซีย
- ซิโนแว็กซ์ของจีน
ยึดถือประสิทธิภาพตามความก้าวหน้าของการทดลองและการขึ้นทะเบียนในประเทศเจ้าของผู้ผลิต เป็นหลัก สำหรับ วัคซีน แอสตราเซเนก้า ที่ไทยจองซื้อมากที่สุด เนื่องจากประสิทธิภาพดีราคาเหมาะสมและเก็บรักษาง่ายรวมทั้งยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตเองได้ด้วย
นพ.นครชี้แจงต่อไปว่าผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนเช่นมีไข้ จะพบพบมากขึ้นเมื่อประชาชนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นดังนั้นการเลือกใช้วัคซีนจึงขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักผลที่จะได้และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีกหลายตัวทั้งจาก Johnson & Johnson ทั้งจากอเมริกาและอินเดียที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิตทดสอบในระยะ ต่อไป ที่จะทยอยออกมา เป็นวัคซีนที่ไทยจับตาดูและจะเลือกจัดหาพิจารณาประสิทธิภาพโดยปัจจัยต่างๆทั้งเงื่อนเวลา และการควบคุมการระบาดของโรค
นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระบวนการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายเน้นมนุษยธรรมและเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลกประเมินว่าในช่วงต้นปี 2564 วัคซีนยังมีในปริมาณน้อย แต่จะมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 จึงต้องฉีดตามความจำเป็นก่อน คือ ผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิต จึงต้องได้วัคซีนก่อน รวมทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควบคุมสูงสุดและเข้ม ด้วยวงเงินงบประมาณ 1,228 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว พร้อมจัดสรรให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ราว 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ราว 73 ล้านคน และพรุ่งนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าระบบการกระจายวัคซีนจะมีอยู่ทั่วประเทศราว 1,100 แห่ง ตั้งแต่โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน ไปจนถึงศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ทั้งนี้บุคลากรที่จะเป็นผู้ฉีดวัคซีน จะต้องได้รับการอบรมให้มีมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ยังต้องพัฒนาระบบแอพพลิเคชันประกอบรองรับการลงทะเบียน และเคลื่อนย้ายของประชากร เพื่อติดตามการรับวัคซีนให้ครบ 2 โดส ในระยะเวลาตามกำหนด และถึงแม้จะเป็นการรับวัคซีนฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กรมควบคุมโรคยังต้องติดตามหาประสิทธิภาพและอาการที่ไม่พึงประสงค์ของทุกคนที่ได้รับวัคซีนภายใน 4 สัปดาห์ด้วย.-สำนักข่าวไทย