สำนักข่าวไทย 27 พ.ย.- ผอ.กองระบาด ชี้ปัจจัยติดโควิด นอกจากเชื้อไวรัสเปลี่ยน หลบภูมิคุ้มกัน ยังมาจากกิจกรรมที่ทำ รับประทานอาหารร่วมกัน และหากรับวัคซีนนานเกิน 3 เดือน หรือติดเชื้อนานเกิน 3 เดือน ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เตรียมรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบ
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.ระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า สถานการณ์การติดเชื้อขณะนี้ ไม่มากเท่าในอดีต โดยผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่ต้องนอนรักษาตัวใน รพ. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-26 พ.ย.) 4,914 คน เฉลี่ย 702 คนต่อวัน และมีผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 คน, ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 319 คน ขณะนี้ ที่ยอดเสียชีวิตรายสัปดาห์อยู่ที่ 74 คน เฉลี่ย 10 วันต่อวัน ส่วนอัตราการรับวัคซีน รวม 143,155,910 โดส แบ่งเป็น วัคซีนเข็ม 1 ร้อยละ 82.07 จำนวน 57 ล้านโดส, เข็ม 2 ร้อยละ 77.02 จำนวน 53 ล้านโดส และเข็ม 3 จำนวน 32 ล้านโดส อย่างไรก็ตามเมื่อดูจำนวนของผู้เสียชีวิต จะพบว่ายังเป็นกลุ่ม 608 และได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้รับวัคซีนเลย
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ปัจจัยของการกลับมาติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มาจากการกิจกรรมที่ทำและการที่ไม่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน นอกจากเรื่องของเชื้อไวรัสที่เปลี่ยนแปลงหลบภูมิ แต่ยังคงอยู่ในตระกูลโอไมครอนเหมือนเดิม ดังนั้น คนที่ได้รับวัคซีน หรือผ่านการติดเชื้อมาแล้วเกิน 3 เดือน ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อไม่ให้เกิดการป่วยหนัก และต้องลดปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากกิจกรรม เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน โดยคนที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือคนสูงอายุ ควรงดกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะหนุ่มสาว ที่อาจไปมาหลายที่ เลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว หรือใช้เวลาการรับประทานอาหารให้เร็วที่สุด เพื่อลดระยะเวลาการติดหรือแพร่เชื้อ
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องเร่งรณรงค์การรับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม โดยต้องดำเนินการ 3 อย่าง คือ 1 คนที่ได้รับวัคซีนนานเกิน 3 เดือน หรือผ่านการติดเชื้อมาแล้วเกิน 3 เดือน ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขณะนี้ รพ.ทุกแห่ง เตรียมจัดเพิ่มพื้นที่ฉีดวัคซีน, 2 วัยทำงาน ที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ 608 ในบ้าน ต้องระวังตนเองไม่ได้แพร่เชื้อ ขณะเดียวกันคนสูงอายุก็ขอให้งดกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ไม่ไปเที่ยวหรือสังสรรค์ และ 3 ต้องมีการปรับเพิ่มมาตรการรักษา ให้ได้รับยารวดเร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน คนสูงอายุเมื่อป่วย และคิดว่าโรคไม่ได้รุนแรงเหมือนก่อน เลยไม่ได้มาพบแพทย์ ทั้งนี้ปัจจัยขอความรุนแรงของโรคที่ลดลง มาจากร่างกายมีภูมิเพราะวัคซีน แต่หากระยะห่างของการรับวัคซีนนานเกิน 3 เดือน ก็มีโอกาศที่จะมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้นหากเริ่มมีอาการ ต้องรีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อได้รับยาฉีด พวกเรมเดสซีเวียร์ หรือแพ็กซ์โลวิด เพราะลำพังยากินอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังย้ำว่า ในช่วยหยุดยาวของเดือน ธ.ค. ต้องระวังตัว สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และงดกิจกรรมเสี่ยง เช่นการรับประทานอาหารแบบรวมกลุ่มกับคนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 4 เข็ม เพื่อไม่ให้ติดเชื้อแล้วรุนแรง.-สำนักข่าวไทย