ภาคเหนือ 31 มี.ค.-กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเริ่มงานวิจัยควบคู่ปฏิบัติการจริง เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้แนวคิดสารฝนหลวงสูตรเย็นจัด หรือน้ำแข็งแห้ง ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ขั้นตอนที่ 4 มาใช้ในงานวิจัย นับเป็นครั้งแรกของไทยและครั้งแรกของโลก
ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของไทยจะประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า จนทำให้ปริมาณฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน สาเหตุจากไฟป่า และการลักลอบเผาในที่โล่งเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร ปีนี้หลายจังหวัดออกประกาศห้ามเผาต่อเนื่อง 60 วัน และกำหนดโทษเข้มข้นหากฝ่าฝืน
อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเผยช่วงหน้าแล้ง อากาศแห้ง ฝนน้อย หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่ถึง 60% ก็ไม่สามารถใช้ปฏิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหาหมอกควันได้ จึงเป็นที่มาของโครงการศึกษาการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน โดยใช้แนวคิดจากการใช้สารฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ในขั้นตอนที่ 4 ตามศาสตร์พระราชา ซึ่งใช้สารฝนหลวงสูตรเย็นจัด หรือน้ำแข็งแห้ง
เจ้าของงานวิจัยให้ข้อมูลว่าปกติอากาศลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง และพาเอาฝุ่นละอองขึ้นไปด้วย แต่กลับถูกกักเมื่อขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน หรือ Inversion Layer กดทับสภาพอากาศด้านล่าง ทำให้อากาศด้านล่างลอยตัวขึ้นไม่ได้ จึงเกิดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองติดอยู่ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปฏิบัติการจะใช้เครื่องบินค่าซ่าจำนวน 2 ลำ บรรทุกน้ำแข็งแห้งลำละ 1 ตัน บินคู่กัน ระดับความสูง 8,000-10,000 ฟุต โปรยน้ำแข็งแห้ง ซึ่งมีอุณหภูมิ -78 องศาเซลเซียส บนชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ทำให้บริเวณนั้นอุณหภูมิลดต่ำลง ฝุ่นละอองที่ถูกกักสามารถลอยขึ้นในบรรยากาศระดับบนได้ โดยใช้เครื่องบิน Super King Air ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงค่าทางอุตุนิยมวิทยาและความเข้มข้นของฝุ่นละออง ขณะนี้มีการทดลองบินไปแล้ว 5 ครั้ง
การขึ้นบินแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนการบินอย่างรอบคอบ เพราะต้องบินพร้อมกันถึง 2 ลำ และที่ระดับความสูง 10,000 ฟุต อากาศเบาบาง นักบินอาจเกิดอาการช็อกได้ การวิจัยควบคู่ปฏิบัติการนี้ดำเนินการไปแล้ว 5 ครั้ง ช่วยบรรเทาปริมาณฝุ่นละอองได้ ผลนำมาประเมินและปรับวิธีการทำต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้ผลดีที่สุด โดยจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้.-สำนักข่าวไทย