สำนักข่าวไทย 25 เม.ย. – “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ตรวจสอบเรื่องคำเตือนห้ามใช้ไฟฉายจากมือถือส่องตู้ไฟฟ้า ที่มากับเรื่องราวของพนักงานช่างไฟฟ้าที่ได้รับบาดเจ็บหลังประสบอุบัติเหตุจากไฟฟ้าแรงสูง
บนสังคมออนไลน์กำลังมีการส่งต่อข้อความเตือนกันอย่างกว้างขวางว่า “ระวังครับ อย่าเอามือถือทำเป็นไฟฉายส่องตู้ไฟฟ้าที่บ้าน หรือถังน้ำมัน
เมื่อเวลา 14.30 น. (19 เม.ย.59) ขณะที่ จนท.บ.วิทยุการบิน จำนวน 2 นาย คือ นายประเสริฐ คำอ้วน และนายทรงพจน์ มณีคำแสง ซึ่งเดินทางไปซ่อมเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าที่สนามบินแม่ฮ่องสอน ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงานจากการใช้โทรศัพท์มือถือเปิดเป็นไฟส่องสว่างใกล้บริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าแรงสูง ทำให้โทรศัพท์ระเบิดจากกระแสไฟแรงสูงวิ่งผ่านอากาศเข้าสู่โทรศัพท์ได้รับบาดเจ็บ บริเวณมือ แขน และใบหน้าบางส่วน ถูกนำส่ง รพ.ศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาการของ จนท. ทั้ง 2 นายขณะรายงานนี้อยู่ในขั้นปลอดภัย กระผมได้สั่งการในเบื้องต้นให้งดการนำโทรศัพท์มือเข้าไปใช้งานในบริเวณสุ่มเสี่ยงจากพื้นที่มีกระแสไฟฟ้าแรงสูงแล้ว”
เกิดเหตุจริงหรือไม่ ?
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย ตรวจสอบไปยังวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ได้รับข้อความชี้แจงยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการดูแลผู้บาดเจ็บ และจะมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป
วิทยุการบินแห่งประเทศไทย
จากที่มีข้อมูลถูกเผยแพร่ผ่านทาง Social Media เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของวิทยุการบิน 2 ท่าน ที่เดินทางไปซ่อมบำรุงเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าที่สนามบินแม่ฮ่องสอน ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงานจากการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นไฟส่องสว่างใกล้บริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าแรงสูง ทำให้โทรศัพท์เกิดระเบิด ส่งผลให้ทั้ง 2 ท่านได้รับบาดเจ็บนั้น
วิทยุการบินฯ ขอชี้แจ้งเบื้องต้นว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ถูกเผยแพร่จากวิทยุการบินฯ อย่างเป็นทางการ ขณะนี้วิทยุการบินฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บ และเยียวยาพนักงานผู้ประสบเหตุของเราก่อนเป็นสำคัญในโอกาสแรก
สำหรับกรณีดังกล่าว วิทยุการบินฯ มิได้นิ่งนอนใจในเรื่องมาตรการความปลอดภัย โดยได้ประสานการทำงานร่วมกับนักวิชาการทั้งด้านมือถือและไฟฟ้าเพื่อเร่งดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และจะนำรายละเอียดมารายงานให้ทราบต่อไป
กองสื่อสารองค์กร วิทยุการบินแห่งประเทศไทย
คำแถลงดังกล่าวชี้ว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับพนักงานจริง แต่อาจจะไม่ใช่สาเหตุอย่างที่ส่งต่อกัน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ยังเปิดเผยว่า เรื่องที่แชร์กันนั้นไปไกลจากความจริงอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปข้อเท็จจริงได้ภายใน 2 วัน
ห้ามใช้ไฟฉายจากมือถือส่องตู้ไฟที่บ้านจริงหรือ?
ส่วนที่แชร์เตือนว่า “อย่าเอามือถือทำเป็นไฟฉายส่องตู้ไฟฟ้าที่บ้าน หรือถังน้ำมัน” นายดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่ไม่จริงอย่างแน่นอน เนื่องจากไฟฟ้าตามบ้านเรือนเป็นไฟฟ้าแรงดันต่ำ ไม่ใช่แรงดันสูง จึงสามารถใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือส่องสว่างตู้ไฟได้ตามปกติ
“ตู้ไฟที่บ้านเป็นชนิดไฟแรงต่ำ คือ ไฟที่มีแรงดันต่ำกว่า 1,000 โวลต์ จะไม่มีการกระโดดออกมาทำอันตรายกับคนได้ เพราะฉะนั้นการเอาไฟฉายจากมือถือส่องเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ใช่เอาไปสัมผัสตัวตู้ ถ้ามือถือเป็นโลหะเกิดไปสัมผัสกับตู้ไฟ แล้วเกิดมีไฟรั่วอยู่ อันนี้อาจจะทำให้ดูดมาที่ตัวมนุษย์ได้” นายดุสิต กล่าว
อาจารย์วิศวฯ สจล. กล่าวอีกว่า ส่วนไฟแรงสูงนั้น ถึงแม้จะมีฉนวนหุ้ม แต่มันสามารถข้ามออกมานอกฉนวนได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่อะไรที่เข้าไปใกล้ในสภาวะที่เสี่ยงจะมีการคายประจุลงสู่พื้นดิน ก็อาจจะได้รับอันตรายได้ เพราะฉะนั้นความปลอดภัยจากไฟแรงสูงมีเพียงอย่างเดียว คือ ทิ้งระยะห่างจากไฟแรงสูงให้เหมาะสมตามมาตรฐาน
“และถ้าไม่มีความรู้ที่เกี่ยวข้องไม่ควรเข้าไปใกล้บริเวณที่มีอุปกรณ์ไฟแรงสูงนั้นอยู่ ตัวอย่างไฟแรงสูงในชีวิตประจำวัน เช่น ตัวเสาไฟฟ้าที่มีหม้อแปลง สะพานลอยที่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง โครงเหล็กป้ายโฆษณาอย่าไปจับ ราวสะพานลอย ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็อย่าไปจับ เพราะเราไม่ทราบว่าโอกาสไฟฟ้ารั่วมันมาจากตรงไหนบ้าง” นายดุสิตกล่าวแนะนำ
สำหรับการใช้โทรศัพท์มือถือใกล้กับถังน้ำมัน หรือในสถานีบริการน้ำมัน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เคยตรวจสอบแล้ว สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก www.tnamcot.com/content/354702 หรือ https://www.youtube.com/watch?v=9qkULJ5Dn4Q
สรุปแล้วข้อความที่แชร์ดังกล่าว เรื่องราวนั้นยังต้องรอติดตามความชัดเจนว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างไร แต่คำเตือนที่ไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือส่องไฟกับตู้ไฟฟ้าตามบ้านนั้นเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ควรแชร์ต่อ.-สำนักข่าวไทย
วิธีการ • Add LINE ของสำนักข่าวไทย เข้าไปที่เพิ่มเพื่อน แล้วพิมพ์ @TNAMCOT ถ้าได้รับแชร์อะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาให้เราตรวจใน “ชัวร์ก่อนแชร์” พบกับสกู๊ปข่าวนี้ได้ในข่าวค่ำสำนักข่าวไทยทุกวัน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter