สบส.6 ม.ค.-กรม สบส.ระดมทีมวิศวกรฉุกเฉินจากส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่กู้วิกฤติน้ำท่วมที่ รพ.ชะอวด รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช และ รพ.หลังสวน จ.ชุมพร ตรวจสอบความพร้อมระบบการสื่อสารสำรองของสถานพยาบาลใน 14 จังหวัดภาคใต้
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้จากฝนตกหนักว่า จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด มีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช 2 แห่ง ได้แก่ รพ.ชะอวด อ.ชะอวด ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช น้ำท่วมบริเวณรอบนอกด้านหน้าโรงพยาบาลสูงประมาณ 1 เมตร การเดินทางเข้า-ออกยากลำบาก และที่ จ.ชุมพร 1 แห่ง ได้แก่ รพ.หลังสวน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร การเดินทางยากลำบาก สามารถให้บริการได้เฉพาะตึกผู้ป่วยใน
ในการจัดระบบการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในวันนี้ กรม สบส.ได้ดำเนินการ 4 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่
1)ระดมทีมวิศวกรฉุกเฉิน 9 ทีม จากทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประกอบด้วย ทีมวิศวกรเครื่องมือแพทย์ สมทบกับทีมวิศวกรในพื้นที่ เพื่อดูแลฟื้นฟูเครื่องมือแพทย์ ระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสารให้พร้อมใช้งาน และทีมวิศวกรโยธา ดูแลในส่วนอาคารสถานที่ ระบบบำบัดน้ำเสีย ให้มีความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง
2) จัดเตรียมระบบการสื่อสารสำรองในสถานพยาบาล 14 จังหวัดภาคใต้ ให้พร้อมใช้งานหากระบบการสื่อสารปกติไม่สามารถใช้การได้
3) จัดชุดปฐมพยาบาล จำนวน 300 ชุด ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม. )ใช้ในการปฏิบัติงานดูแลผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในบ้าน โดยในชุดปฐมพยาบาลประกอบด้วย ชุดทำแผล ยาแก้ปวดลดไข้ ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ผงน้ำตาลเกลือแร่ เป็นต้น
และ4) ระดมเรือท้องแบน/เรือไฟเบอร์ จากสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 3 จ.นครสวรรค์ อีก 5 ลำ เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วม
นพ.ประภาส กล่าวอีกว่า วันนี้กรม สบส.ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าของกรมฯ ที่สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 11 จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด รวมทั้งวางแผนดำเนินการฟื้นฟูสถานพยาบาลที่ถูกน้ำท่วม และเครื่องมือแพทย์ต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม.ในการออกเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งทางกายและจิตไม่ให้ขาดยา ป้องกันอาการกำเริบ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคฉี่หนู เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย