กรุงเทพฯ 23 ก.ค.-กรมทรัพยากรธรณี แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังดินถล่มในพื้นที่ 21 จังหวัด จากผลกระทบพายุ “วิภา” แม้ขณะนี้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่อิทธิพลของร่องมรสุมยังคงส่งผลให้หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันตกมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมฯ ยังคงเปิดศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย (War Room) เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินความเสี่ยง วิเคราะห์ข้อมูล และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลฝนสะสมควบคู่กับแบบจำลองธรณีพิบัติภัย พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มกระจายอยู่ใน 21 จังหวัด ได้แก่
-ภาคเหนือ: แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย อุดรธานี หนองคาย
-ภาคตะวันออก: จันทบุรี ตราด
-ภาคตะวันตก: กาญจนบุรี ราชบุรี
-ภาคใต้ฝั่งตะวันตก: ระนอง พังงา ภูเก็ต
ในจำนวนนี้ มี 6 จังหวัดที่จัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ตาก และกาญจนบุรี ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน และมีฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ทำให้ดินมีความชื้นสะสมสูงและเสี่ยงต่อการพังทลายของดินและหิน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ปริมาณฝนสะสมในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่านและพะเยาสูงเกือบ 300 มิลลิเมตร โดย 10 อันดับพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด มีดังนี้
1.หน่วยจัดการต้นน้ำกอนฝั่งซ้าย ต.พญาแก้ว อ.เชียงกลาง จ.น่าน – 285.4 มม.
2.บ้านผาเงียง ต.ภูคา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน – 285.2 มม.
3.บ้านขุนน้ำพริก ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน – 282.0 มม.
4.บ้านผาน้ำย้อย ต.พญาแก้ว อ.เชียงกลาง จ.น่าน – 279.5 มม.
5.ศาลาชุมชน ม.2 บ้านร้องตอง ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน – 275.8 มม.
6.บ้านสกาดกลาง ต.สกาด อ.ปัว จ.น่าน – 273.5 มม.
7.บ้านน้ำลาว ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา – 272.5 มม.
8.บ้านปางมะโอ ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา – 272.0 มม.
9.บ้านสินสองพัฒนา ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา – 271.5 มม.
10.หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สก.2 (ภูสิงห์) ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา – 259.4 มม.
กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบ Cell Broadcast พร้อมประกาศเฝ้าระวังดินถล่มในพื้นที่ตามประกาศฉบับล่าสุด
อธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนในพื้นที่ลาดเชิงเขาและบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสังเกตสัญญาณความเสี่ยง เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำในลำธารเปลี่ยนสี เสียงผิดปกติจากภูเขา หรือระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และให้เตรียมความพร้อมอพยพทันทีเมื่อได้รับแจ้งเตือน
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี โทร. 02 621 9702–5 หรือเว็บไซต์ www.tmd.go.th.-512.-สำนักข่าวไทย