ก.ดิจิทัลฯ 6 ก.พ. – รองนายกรัฐมนตรีย้ำ 2 ปี กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน หวัง 3 เสาหลัก ไปรษณีไทย กสท และทีโอที ขับเคลื่อน เตรียมระดมนักศึกษาออกให้ความรู้อินเทอร์เน็ตประชารัฐทุกพื้นที่ ด้านกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมสร้างดิจิทัลปาร์คแหลมฉบังรองรับนักลงทุนต่างชาติ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อต้องการเร่งรัดให้หน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประชารัฐกระจายไปทุกหมู่บ้าน 24,700 แห่งทั่วประเทศภายใน 2 ปี ด้วยเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อเป็นถนนหลวงทางอินเทอร์เน็ต หวังพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข ให้เป็นสังคมดิจิทัล โดยมีบรอดแบรนด์ขนาดใหญ่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูลให้ยื่นราคาภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ปลายเดือนเมษายนคาดว่าจะจัดหาผู้รับเหมาเอกชนวางระบบได้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยึดหลักความโปร่งใสเป็นหลักในการเปิดประมูล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค
ที่ประชุมยังรับทราบการใช้ 3 เสาหลัก ทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อทีโอทีวางระบบเครือข่ายในประเทศแล้ว ในส่วนของ กสทฯ เดินหน้าวางโครงข่ายบรอดแบรนด์ขนาดใหญ่เชื่อมโยงในประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลเซีย ด้วยงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงตลาดไปต่างประเทศ เมื่อโครงข่ายบริการมีความพร้อม ไปรษณีไทยเตรียมเชื่อมโยงตลาดให้กับผู้ประกอบการในชุมชน เอสเอ็มอี ปรับระบบรองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น เปิดรับฝาก 24 ชั่วโมง ผ่านตู้อัตโนมัติบางจุดเมืองหลัก เพื่อให้เอกชนรายใดที่พร้อมสามารถส่งของได้เลยโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่เปิดทำงาน และปรับระบบรับฝากออนไลน์ การบริการรับส่งสินค้าจากในพื้นที่ สำหรับสินค้าขายผ่านเว็บลาซาด้า โดยไม่ต้องส่งมายังคลังสินค้าของลาซาด้าในกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อไปให้ลูกค้าอีกครั้ง เพื่อลดภาระค่าขนส่ง
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งเน้นพัฒนาดิจิทัลปาร์คบนพื้นที่ 600 ไร่ บริเวณแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา ซึ่งใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบินอู่ตะเภา สถาบันการศึกษา หวังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวางระบบให้พร้อม เพื่อสร้างเมืองใหม่รองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาใช้บริการดิจิทัลปาร์คดังกล่าวจะมีหน่วยงานรัฐพร้อมให้บริการแบบครบวงจร รวมทั้งสถาบันการเงิน เพื่อดูแลเรื่องทุนขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเตรียมระดมนักศึกษา ผู้จบการศึกษาออกให้ความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตกับชุมชน (Net ประชารัฐ) เพื่อประจำอยู่ทุกหมู่บ้านและยังสร้างแรงจูงใจให้มีนักศึกษาคืนถิ่นกลับมาพัฒนาบ้านเกิด
นายพิเชษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนำร่องพัฒนาภูเก็ตเป็น Smart City เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน บริหารจัดการกล้องวงจรปิด การช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งเมืองจะเป็นระบบดิจิทัล ทั้งบริการภาครัฐ การศึกษา สาธารณสุข การลงทุน การท่องเที่ยว ภายใน 2 ปี กำหนดสร้างเมือง Smart City กระจายไปยังเชียงใหม่ ภูเก็ต ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก.-สำนักข่าวไทย