บังคับใช้แล้ว พ.ร.ก.ปราบภัยไซเบอร์ฉบับ 2 มีอะไรใหม่ ? | ชัวร์ก่อนแชร์ CyberUpdate🚀

เพิ่มความร่วมรับผิดชอบ-ครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัล-ตั้งศูนย์ ศปอท.-ไม่ร่วมมือมีโทษจำคุก-คุมเข้มซิมม้า


เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามภัยอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘ และ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเป็นการปรับแก้ไขและเพิ่มเติมพระราชกำหนดฉบับก่อนหน้า โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568 ทั้งนี้ มีรายละเอียดสำคัญโดยย่อ ดังนี้

13 สิ่งใหม่ ใน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568


อ่านพระราชกำหนดฉบับเต็ม : พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘

ครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัล

1. เพิ่มนิยามใหม่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (มาตรา 3, 4) ขยายความหมายของ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้รวมผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มนิยาม “กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” และขยายความหมายของบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์


“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล”
“กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet)
“บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความรวมถึงบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล

2. เพิ่มการเปิดเผยข้อมูล “เลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ต้องสงสัย และเพิ่ม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ในผู้ร่วมเห็นชอบกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล (มาตรา 5)

หน่วยงานร่วมกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการป้องกัน

3. กำหนดมาตรฐานและมาตรการเพื่อป้องกันภัยไซเบอร์ ให้หน่วยงาน ได้แก่ ธปท. ก.ล.ต. กสทช. สำนักงาน กสทช. และ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการได้ (มาตรา 4/1)

ค่ายมือถือและผู้ส่ง SMS มีหน้าที่คัดกรองเนื้อหา

4. ให้ผู้ให้บริการ SMS มีหน้าที่ต้องคัดกรองข้อความที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (มาตรา 4/1)

ขึ้นบัญชีดำ อาชญากรห้ามเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรม

5. สั่งปฏิเสธหรือระงับบัญชีและกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ตามรายชื่อจาก ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) (มาตรา 4/2)

บทกำหนดโทษ : สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ใดไม่ปฏิบัติตาม ระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท หากเป็นคำสั่งหรือการละเว้นไม่สั่งการของบุคคลใด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 8/11)

สั่งปิดเบอร์อาชญากรได้

6. สั่งระงับบริการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไซเบอร์ เพิ่มอำนาจในการแจ้งให้ กสทช. สั่งระงับเบอร์/บริการที่ใช้ก่อเหตุ (มาตรา 5 วรรคสอง-สาม)

สั่งลบ สั่งปิดกั้นเว็บบริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผิดกฎหมาย

7. สั่งลบหรือปิดกั้นข้อมูลคอมพิวเตอร์ผิดกฎหมาย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สั่งลบเนื้อหาผิดกฎหมาย (มาตรา 7/1)

บทกำหนดโทษ : ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 8/11)

การจัดการบัญชีอาชญากรเพื่อคืนเงินผู้เสียหาย

8. ระบบการคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ให้รวมถึงกรณีที่ ปปง.สงสัยหรือตรวจพบ หากบัญชีใดไม่มีผู้เสียหายมายื่นคำร้องภายใน 10 ปี ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (มาตรา 8/1 ถึง 8/4)

จัดตั้ง ศปอท.

9. จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมปฏิบัติงาน โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ (มาตรา 8/5 ถึง 8/9)

  • รับแจ้งเหตุ
  • สั่งระงับบัญชีต้องสงสัย และ สั่งเพิกถอนการระงับ
  • สั่งให้หน่วยงานส่งข้อมูลบัญชีและธุรกรรมต้องสงสัย
  • รวบรวมจำนวนบัญชีเงินฝากของบุคคล แต่ไม่รวมถึงจำนวนเงินในบัญชี
  • เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ประกาศรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
  • แจ้งเบอร์โทร หรือ SMS หรือชื่อผู้ส่ง หรือข้อมูลอื่นให้ กสทช.สั่งระงับ
  • รวบรวมข้อมูลเพื่อปฏิบัติการและจัดทำรายงานผล

กำหนดให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหาย

10. ให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ โทรคมนาคม ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการที่กำหนดแล้ว

ยกระดับปราบซิมม้า คุมเข้มลงทะเบียน ครอบคลุมใช้ข้อมูลคนตาย

11. ผู้ซื้อหรือผู้ขายเบอร์โทรที่ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วน ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 11/1)

12. ผู้ใดใช้ เก็บรวบรวม ครอบครอง หรือเปิดเผย ข้อมูลผู้ถึงแก่กรรมเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด  ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 11/2)

13. หากเป็นการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน เสนอซื้อ เสนอขาย เสนอแลกเปลี่ยน หรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควร จากข้อมูลผู้ถึงแก่กรรม ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการ (มาตรา 11/2)


สิ่งใหม่ใน พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568

อ่านพระราชกำหนดฉบับเต็ม : พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘

เพิ่มความครอบคลุมถึงผู้ให้บริการนอกราชอาณาจักร

“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรไทยแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย เว้นแต่ เป็นการให้บริการตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด” (มาตรา 3)

กำหนด 7 ลักษณะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือว่าให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร

มาตรา ๒๖/๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา ๒๖ วรรคสาม ที่มีลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร

(๑) มีการแสดงผลโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย

(๒) มีการจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยใช้ชื่อโดเมน “.th” หรือ “ไทย” หรือชื่ออื่นที่หมายถึงประเทศไทย ราชอาณาจักร หรือราชอาณาจักรไทย หรือใช้ชื่อโดเมนภาษาไทย

(๓) มีการกำหนดโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผู้ใช้บริการชำระเงินหรือสามารถ เลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท หรือมีการรับชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย

(๔) มีเงื่อนไขให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ กำหนดให้ดำเนินคดีในศาลไทย

(๕) มีการจ่ายค่าบริการแก่ผู้ให้บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้ ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรไทยเข้าถึงบริการของผู้ประกอบธุรกิจเป็นการเฉพาะ

(๖) มีการจัดตั้งสำนักงาน หน่วยงาน หรือมีบุคลากรเพื่อให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรไทย

(๗) มีลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด


รายละเอียดพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายหลังการปรับแก้ตามฉบับที่ 2
– ข้อความที่ถูกปรับแก้ยกเลิก แสดงเป็นข้อความที่ถูกขีดเส้นทับ
– ข้อความที่เพิ่มเติม แสดงเป็น ตัวเอียง

พระราชกำหนด
มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
พ.ศ. ๒๕๖๖
มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๘

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖”

มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้

“อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หมายความว่า การกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
“กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet)
“บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความรวมถึงบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล

มาตรา ๔ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้อง และเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล ในระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้นผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เห็นชอบร่วมกัน

เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการที่เกี่ยวข้องระหว่างกันผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เห็นชอบร่วมกัน

เมื่อมีการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ผู้เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วแต่กรณี และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทราบโดยทันที และเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แล้วแต่กรณี มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้

มาตรา ๔/๑ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๘/๑๐ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่นมีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคัดกรองเนื้อหาการบริการสารสั้น (SMS) ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรฐานหรือมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำหนดตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๔/๒ เมื่อ ศปอท. ได้แจ้งรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามประกาศในมาตรา ๘/๕ (๖) ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธการเปิดบัญชี ระงับการให้บริการหรือการทำธุรกรรม หรือปิดบัญชีกับบุคคลที่มีรายชื่อหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว จนกว่าจะมีการเพิกถอนรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น

มาตรา ๕ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งานหรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น และเมื่อได้รับคำสั่งแล้ว ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น มีหน้าที่ส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่ผู้สั่งกำหนด

ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะปรากฏจากการตรวจสอบข้อมูลตามวรรคหนึ่งหรือพยานหลักฐานอื่นใด ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ศปอท. แล้วแต่กรณี แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น ระงับการให้บริการโทรคมนาคมดังกล่าว

การยกเลิกการระงับการให้บริการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ศปอท. เห็นชอบร่วมกัน

มาตรา ๖ ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลจากระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไป พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง แล้วแต่กรณี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตรวจสอบ

ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งเหตุตามวรรคหนึ่งจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรม พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที แล้วแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแล้ว ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง หรือแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคสอง หากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้แจ้งผลการตรวจสอบให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจทราบเพื่อยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมต่อไป

เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสามแล้ว หากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่แจ้งผลการดำเนินการ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น

มาตรา ๗ ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ว่า ได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวและเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบ และให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ต่อไปภายในเวลาดังกล่าว ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น

มาตรา ๗/๑ เมื่อความปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยพลัน

การสั่งระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศกำหนด

มาตรา ๘ การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐานตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ จะกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในกรณีที่กระทำทางโทรศัพท์ ให้ผู้ได้รับแจ้งบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ลงลายมือชื่อผู้รับแจ้ง และวันเวลาที่ได้รับไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งส่งสำเนาให้ผู้แจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักรหรือต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้ และจะร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และในการสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าประจำอยู่ที่ใดหรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสอบสวนและดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา ๘/๑ เพื่อประโยชน์ในการคืนเงินแก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ในการตรวจสอบรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และอาจขอให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสมก็ได้

หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคสอง ต้องให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรือมอบหมายบุคคลเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแก่กรณี และให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

การรายงานและการตรวจสอบรายงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๘/๒ เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ตรวจสอบรายงานตามมาตรา ๘/๑ แล้ว ให้ประกาศข้อมูลบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในราชกิจจานุเบกษา และในประกาศดังกล่าว ให้แจ้งผู้เสียหายให้ยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานแห่งความเสียหาย และแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมแสดงหลักฐานว่าเงินในบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีการแจ้งผู้เสียหายนั้น หากทราบตัวผู้เสียหายที่ชัดเจนแน่นอนให้แจ้งให้ผู้เสียหายนั้นทราบโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีอำนาจสั่งคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย

การแจ้ง การยื่นคำร้อง การตรวจสอบคำร้อง การเสนอเรื่อง และการพิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย การแจ้งผลการพิจารณาต่อผู้เสียหายและผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิธีการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา และให้นำหมวด ๕ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๘/๓ ให้นำมาตรา ๘/๑ และมาตรา ๘/๒ มาใช้บังคับแก่กรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลจากระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ ด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๘/๔ ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดไม่มีผู้เสียหายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมายื่นคำร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่ครบกำหนดตามมาตรา ๘/๒ หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายแล้วแต่ยังมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้เงินในบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าของเงินหรือเจ้าของบัญชีที่จะขอรับเงินคืนจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินภายหลังจากนั้น ถ้าพิสูจน์ได้ว่าตนมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจมารับคืนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ในกรณีเช่นนั้น ให้คืนเงินให้แก่ผู้นั้น

มาตรา ๘/๕ ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เรียกโดยย่อว่า “ศปอท.” ในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) รับแจ้งเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจากผู้เสียหาย และให้ถือว่าการแจ้งเหตุดังกล่าวเป็นการร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๘ วรรคสอง
(๒) ระงับการทำธุรกรรมที่เป็นบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยทันที หรือเพิกถอนการระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
(๓) สั่งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมที่ต้องสงสัย
(๔) รวบรวมจำนวนบัญชีเงินฝากที่บุคคลใดถือไว้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงจำนวนเงินฝากทั้งหมดหรือของแต่ละบัญชี
(๕) เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง
(๖) ประกาศรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเพิกถอนรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ ศปอท. ประกาศกำหนด
(๗) แจ้งข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ บริการสารสั้น (SMS) หรือชื่อผู้ส่งสารสั้น หรือข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคมอื่น ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติทราบ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๕ วรรคสอง
(๘) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้
(๙) จัดทำรายงานผลการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเสนอคณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ เดือนละหนึ่งครั้ง

มาตรา ๘/๖ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานของเอกชนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมปฏิบัติงานใน ศปอท.

มาตรา ๘/๗ ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ แต่งตั้งหัวหน้า ศปอท. โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบในการบริหารงานของ ศปอท.
(๒) เป็นผู้แทนของ ศปอท. ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก
(๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้
(๔) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ มอบหมาย

มาตรา ๘/๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอาจวางระเบียบการปฏิบัติงานของ ศปอท. ก็ได้

มาตรา ๘/๙ ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานใน ศปอท. ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา ๘/๑๐ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๘/๑๑ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔/๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๘/๑๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗/๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๙ ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐ ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑ ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ หรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑/๑ ในกรณีที่ผู้ซื้อเลขหมายโทรศัพท์ลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ หรือผู้ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนให้แก่ผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำหนด โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑/๒ ผู้ใดใช้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดเก็บรวบรวม ครอบครอง หรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อนำไปใช้หรือให้บุคคลอื่นใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติในวรรคหนึ่ง

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้กระทำโดยซื้อ เสนอซื้อ ขาย เสนอขายแลกเปลี่ยน เสนอแลกเปลี่ยน หรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๒ การเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวม หรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ผู้ได้รับหรือครอบครองข้อมูลจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบมิได้

มาตรา ๑๓ ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนตามที่เห็นสมควร เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัยตามพระราชกำหนดนี้ รวมทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการดังกล่าว และให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะแต่งตั้งข้าราชการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้

เมื่อครบห้าปีหลังจากที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประเมินความจำเป็นในการให้มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยในกรณีมีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการต่อไป ให้เสนอแนะหน่วยงานที่จะทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการต่อไปด้วย ในกรณีที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการดังกล่าวต่อไป และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วย ให้คณะกรรมการดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติหรือวันที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่เห็นควรมีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อไป คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นคราว ๆ หรือตลอดไปก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นการแต่งตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๑๔ ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

หมายเหตุ (ฉบับที่ ๑) :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด ซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

หมายเหตุ (ฉบับที่ ๒) :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปรากฏว่ามีการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไปซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบการทำธุรกรรมและการระงับการทำธุรกรรม การใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการนำข้อมูลของบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมมาใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในกรณีดังกล่าว และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งกำหนดกระบวนการการคืนเงินแก่ผู้เสียหายให้เป็นไปโดยเร็ว และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนการกำหนดโทษในส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้


รวบรวม และ เรียบเรียง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

อดีต ผกก.ขับรถปาดหน้า-ชัก M16 ขู่อดีตนายกเทศมนตรีที่วัง

สงขลา 11 พ.ค. – การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี เดือด ลูกชาย สส.สงขลา ทำร้ายตำรวจคุมหน่วย ส่วน จ.นครศรีธรรมราช อดีตผู้กำกับขับรถปาดหน้าและชักปืน M16 ขู่อดีตนายกเทศมนตรีที่วัง การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เดือด นายชวลิต เจริญพงษ์ อดีตนายกเทศมนตรีที่วัง และปัจจุบันเป็นผู้สมัครรองนายกเทศมนตรีที่วัง เบอร์ 2 เข้าแจ้งความที่ สภ.กะปาง ว่าถูก พ.ต.อ.พิรุณ อดีต ผกก.ที่ปรึกษาผู้สมัครนายกเทศมนตรีอีกทีม ขับรถไล่ตามและใช้ปืน M16 ข่มขู่ โดยก่อนเกิดเหตุได้ไปกินข้าวที่ร้านอาหารกับผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.ที่วัง ได้เจ้อกับลูกน้องคนสนิทของ พ.ต.อ.พิรุณ พร้อมพวก เข้ามาพูดจาข่มขู่ พวกตนจึงหนีขึ้นรถเพื่อตัดปัญหา แต่ปรากฏว่าเมื่ออกจากร้านได้เพียง 10 เมตร พ.ต.อ.พิรุณ ได้ขับรถแวนเชฟโรเลตสีขาวปาดหน้า และลงจากรถพร้อมปืน M16 วิ่งมาที่รถของตน เห็นท่าไม่ดี จึงหักพวงมาลัยขับรถหนีและเข้ามาแจ้งความ ระหว่างนั้น พ.ต.อ.พิรุณ พร้อมพวก […]

เร่งล่ามือฆ่าเผานั่งยาง 4 ศพ กลางสวนปาล์ม

ตรัง 11 พ.ค. – เร่งล่าคนร้ายโหดฆ่าเผานั่งยาง 4 ศพ กลางสวนปาล์มใน อ.สิเกา จ.ตรัง ล่าสุดตำรวจรู้ตัวผู้ก่อเหตุแล้ว วันนี้ (11 พ.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สิเกา จ.ตรัง เข้าตรวจสอบภายในสวนปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่ง พื้นที่หมู่ 1 หลังได้รับแจ้งมีเหตุฆ่าเผานั่งยาง ที่เกิดเหตุเป็นสวนปาล์มน้ำมัน สภาพรกทึบ ห่างจากถนนสายตรัง-สิเกา ไปตามถนนลูกรังกว่า 5 กม. พบเศษยางรถยนต์นับสิบเส้น และพบชิ้นส่วนคล้ายเศษเนื้อและอวัยวะของมนุษย์ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และหน่วยกู้ภัย เข้าเก็บชิ้นส่วน พบร่างมนุษย์ในกองเถ้าถ่าน 3 ร่าง จึงส่งชันสูตรหาร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หลังเกิดเหตุ พล.ต.ต.ภัทรวิชญ์ คีตโมทนียกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง พร้อมเจ้าหน้าที่กองปราบฯ เจ้าหน้าที่ สภ.สิเกา ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายปกครอง ร่วมตรวจพื้นที่คลี่คลายคดีและเก็บพยานหลักฐาน โดยในที่เกิดเหตุเป็นร่องสวนปาล์มติดกับขนำร้างคอนกรีตมุงกระเบื้อง ซึ่งเจ้าของสวนสร้างเอาไว้ให้คนงานหลบแดด แต่ไม่มีผู้พักอาศัย พบร่องรอยกองเลือด ปลอกกระสุน แกลลอนน้ำมัน จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เดินตรวจสอบบริเวณโดยรอบ […]

ผบ.ตร. สั่งกองวินัยเตรียมสอบ ปมมติแพทยสภาลงโทษหมอ

ผบ.ตร. รับทราบกรณีแพทยสภาลงโทษหมอ ปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 สั่งกองวินัยเตรียมสอบ หากเป็นแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ

คณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษ 3 แพทย์ เซ่นปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14

คณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 ท่าน เซ่นปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยว่ากล่าวตักเตือน 1 ท่าน พักใช้ใบประกอบวิชาชีพ 2 ท่าน เผยมติที่ประชุมมีความเห็น “เป็นเสียงส่วนใหญ่มาก มาก มาก”

ข่าวแนะนำ

ตร.ไม่ให้ประกัน “สจ.กอล์ฟ” กับพวก คอตกนอนคุก

สงขลา 12 พ.ค.- ตำรวจไม่ให้ประกัน “สจ.กอล์ฟ” กับพวก คอตกนอนคุก คดีทำร้ายร่างกาย “ด.ต.” คาหน่วยเลือกตั้ง พร้อมนำกำลังค้น 7 จุดหาหลักฐานเพิ่มเติม ความคืบหน้าเหตุการณ์นายสิรดนัย พลายด้วง หรือ สจ.กอล์ฟ สจ.เขต 7 จ.สงขลา ลูกชายนายสมยศ พลายด้วง สส.เขต 3 จ.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ หรือโกถึก ส่งลูกน้องไปรุมทำร้าย ด.ต.นิสาธิต ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้งที่ 7 ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา เพราะไม่พอใจที่ถูกห้ามถ่ายรูปในหน่วยเลือกตั้งขณะไปลงคะแนนกับภรรยา ล่าสุดวันนี้ ศาลจังหวัดสงขลาได้ออกหมายจับผู้ต้องหาที่ร่วมกันก่อเหตุแล้วรวม 7 คน ประกอบด้วย 1. นายสิรดนัย หรือสจ.กอล์ฟ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาที่1 ในฐานะผู้ใช้จ้างวาน2. นายพงษ์เทพ หรือหนึ่งฟรีด้อม อายุ 41 ปี ผู้ต้องหาที่ในฐานะรับคำสั่งจากนายสิรดนัย แล้วสั่งการให้ นายหนุ่มเสกกับพวกรวม […]

ตร.ตรัง เร่งขอศาลออกหมายจับ มือฆ่าเผานั่งยาง 4 ศพ

ตรัง 12 พ.ค.- ตร.ตรัง เร่งขอศาลออกหมายจับมือฆ่าเผานั่งยาง 4 ศพ ขณะที่ญาตินิมนต์พระทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณกลับบ้าน วันที่ 12 พฤษภาคม 2568 เมื่อเวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดตรัง ลงพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ 170 ไร่ จุดเกิดเหตุกลุ่มคนร้ายยิงและเผานั่งยางผู้จัดการสวน เพื่อนร่วมงาน และลูกน้องรวม 3 ศพ และจุดพบศพปริศนาถูกเผาและฝังดินอีก 1 ศพ ในพื้นใกล้กัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ โดยเป็นการลงพื้นที่ซ้ำ เพื่อตรวจหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะบริเวณขนำจุดยิงผู้ตายทั้ง 3 ราย ก่อนนำไปจุดไฟเผา โดยตำรวจพบหัวกระสุนปืนขนาด 11 มม.เพิ่มเติมอีก 1 หัว แต่ทั้งนี้ พบอุปสรรคสำคัญในการทำงานเก็บพยานหลักฐาน เนื่องจากในพื้นที่ได้เกิดฝนตกลงมาเป็นระยะ ๆ ทำให้ร่องรอยพยานหลักฐานบางอย่างถูกทำลาย ซึ่งขณะนี้ทำให้ทราบว่าขณะเกิดเหตุมีการใช้อาวุธปืนหลายขนาด เพราะพบหัวกระสุนปืนในที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดียังคงกระจายกำลังกันลงพื้นที่เพื่อสืบสวนหาข่าวในพื้นที่ อ.สิเกา อ.วังวิเศษ จ.ตรัง และต.ทรายขาว […]

ออกหมายจับ สจ.คนดังพร้อมพวก รุมทำร้าย ตร.คาหน่วยเลือกตั้ง

สงขลา 12 พ.ค.- ศาลจังหวัดสงขลาออกหมายจับ สจ.คนดัง พร้อมพวกรวม 7 คน หลังก่อเหตุรุมทำร้าย ‘ด.ต.’ คาหน่วยเลือกตั้ง จ.สงขลา ขณะที่ ผบ.ตร.สั่งเอาผิด พวกทำตัวเหนือกฎหมาย จากกรณีสมาชิกสภา อบจ.สงขลา บุตรชาย สส.สงขลา ก่อเหตุสั่งให้ลูกน้อง 6 คน รุมทำร้ายร่างกาย ด.ต.นิสาธิต สังกัด ตชด.43 ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหน่วยเลือกตั้ง บริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้งที่ 7 หมู่ 2 ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลาหลัง ส.อบจ.คนดังกล่าว เข้ามาใช้สิทธิที่หน่วย และให้ลูกน้องถ่ายรูป ซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้ง ด.ต.นิสาธิต จึงได้เข้าไปตักเตือน สร้างความไม่พอใจ ก่อนขับรถออกจากหน่วยเลือกตั้ง จากนั้นมีกลุ่มชายชกรรจ์ 5-7 คน เข้ามาที่หน่วยเลือกตั้ง และรุมทำร้าย ด.ต.นิสาธิต บาดเจ็บ ต่อหน้าต่อตาชาวบ้านที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง อ้างว่าลูกพี่ใหญ่ ไม่มีใครกล้าทำอะไร ล่าสุด ศาลจังหวัดสงขลาอนุมัติหมายจับผู้ก่อเหตุทั้งหมด 7 […]

เพลิงไหม้มาราธอน โหมโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ยังคุมไม่ได้

12 พ.ค.- ยังไม่ดับ! ไฟไหม้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ย่านลาดกระบัง ต้นเพลิงอยู่ที่ชั้นใต้ดิน ยังไม่สามารถลงไปได้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รุดลงพื้นที่ สั่งอพยพชาวบ้านใกล้เคียง เร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ยืนยันสถานการณ์จะคลี่คลายภายในวันนี้ เพลิงไหม้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซอยฉลองกรุง 55 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ลุกโหมมาตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้ ก่อนเจ้าหน้าที่ระดมรถดับเพลิงเข้าควบคุมสถานการณ์ ตลอดทั้งคืน ยังมีไฟปะทุออกจากชั้นใต้ดินของโครงสร้างอาคาร     ล่าสุดเช้าวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทีมวิศวกรผู้ เชี่ยวชาญด้านอาคารโรงงานอุตสาหกรรม ตำรวจ และทีมกู้ภัย เร่งเข้าตรวจสอบความเสียหายรอบพื้นที่โรงงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เผยว่า มอบหมายให้ ดร.สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา(ดร.จอร์น) ประธานสภากรุงเทพมหานคร และนายธราพงษ์ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง ลงพื้นที่ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุยังจุดเกิดเหตุ ส่วนแนวทางปฏิบัติการ เตรียมใช้โฟมประกอบน้ำ ฉีดเข้าจุดที่ยังคงมีเพลิงปะทุคาดว่าจะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัดได้ภายในช่วงเที่ยงวันนี้   ขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงระบุว่า ต้นเพลิงอยู่ที่ชั้นใต้ดิน แต่ยังไม่สามารถลงไปได้ เนื่องจากมีกลุ่มควันและความร้อนสูง จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ หน้ากากออกซิเจน […]