นครสวรรค์ 9 มี.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งปี 2560 มอบนโยบายทำฝนเติมน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศ ลดปัญหาหมอกควัน และยับยั้งลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการสู้ภัยแล้งปี 2560 ที่สนามบินนครสวรรค์ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 12 หน่วย ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้ความสำคัญกับการเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศทั้งในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 24,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของปริมาตรความจุทั้งหมด
สำหรับลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งมีเขื่อนหลัก 4 เขื่อน คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การได้ 7,116 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยเช่นกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในหน้าแล้ง โดยจะจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การป้องกันน้ำเค็มรุก รวมถึงการเพาะปลูกพืชสวน ที่ต้องได้รับน้ำต่อเนื่อง แต่ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้นาปรัง ซึ่งตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ จะสามารถมีน้ำใช้ตลอดหน้าแล้ง ไปจนถึงการส่งน้ำให้เกษตรกรในต้นฤดูการผลิตปีนี้ในต้นเดือนพฤษภาคม
ตั้งแต่วันนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเริ่มยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้งครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด รวม 12 หน่วย ซึ่งนอกจากจะเน้นการทำฝนเติมน้ำในเขื่อนหลักแล้ว ยังจะทำฝนให้ตกลงในพื้นที่ต่างๆ บรรเทาภัยแล้ง ลดปัญหาหมอกควัน และยับยั้งลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ตามศาสตร์พระราชา ภายในปี 2579 ซึ่งจะน้อมนำแนวทางจากตำราฝนหลวงพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน
การดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นหัวใจที่ทำให้การปฏิบัติการเป็นผลสำเร็จในปี 2559 ซึ่งประเทศไทยประสบภาวะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ฝนมาล่ากว่าฤดูกาลปกติ และร่องฝนไม่พาดผ่านภาคเหนือ ฝนส่วนใหญ่ตกใต้เขื่อน น้ำในเขื่อนจึงมีน้อย แต่ปฏิบัติการฝนหลวงได้บินถึง 4,337 เที่ยวบิน ทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่ขณะนี้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่า ในปี 2560 จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย