นนทบุรี 14 ธ.ค. – กระทรวงพาณิชย์ดึง 9 หน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หวังป้องกันการค้าประเทศไม่ให้เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อมิตรประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้า
ปัจจุบันสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงสินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง เช่น คาร์บอนไฟเบอร์ สามารถนำมาใช้ในอุปกรณ์กีฬา ได้แก่ ไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ ขณะเดียวกันยังสามารถนำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนขีปนาวุธได้ สารไตรเอทาโนลามีนที่ใช้ในการทำสบู่ ผงซักฟอก และโลชั่น ก็สามารถนำไปใช้ทำสารพิษ หรือควันพิษที่ใช้ในการก่อการร้ายได้ รวมถึงน้ำมันละหุ่งใช้เป็นอาวุธชีวภาพ เป็นต้น อยู่ในบัญชีทั้งหมด 1,692 รายการ ที่กรมการค้าต่างประเทศจะต้องตรวจสอบ หรือขออนุญาต ก่อนที่จะนำเข้าหรือส่งออก เพื่อป้องกันการค้าของประเทศไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบสินค้าได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะทางเทคโนโลยี จึงได้ดึงหน่วยงานรัฐ และสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งหมด 9 แห่ง ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นต้น มาลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงร่วมพิจารณา และจำแนกสินค้าที่ใช้ได้ 2 ทางที่อาจจะพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าว่าไทยมีมาตรการควบคุมและยับยั้งการแพร่ขยาย อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงจากการก่อการร้าย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จุดยืนของไทยยังคงดำเนินตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทยต้องมีมาตรการภายในประเทศที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงสินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง และขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อควบคุมบัญชีรายการสินค้าควบคุมหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการรับรองตนเองกรณีสินค้าไม่เป็น 2 ทาง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561.-สำนักข่าวไทย