กทม. 16 ก.พ.-พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งดีเอสไอมีหลักฐานเชื่อมโยงชัดเจน
ต้นปี 59 พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตกเป็นผู้ต้องหา ฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พบพยานหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าพระธัมมชโยมีส่วนรู้เห็นที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินงานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยักยอกเงินสมาชิกสหกรณ์ฯ 1,200 ล้านบาท มามอบให้พระธัมมชโยและผู้ต้องหาอีกหลายคน ซึ่งวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ไม่มีมูลหนี้ใดๆ กับสหกรณ์ฯ
คดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 5 คน ซึ่งนายศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดียักยอกทรัพย์ และอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ปี 58 เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว คดียักยอกทรัพย์ที่นายศุภชัยถูกอัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อกลางปี 58 ความเสียหายมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท แต่ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา นายศุภชัยแถลงต่อศาลขอกลับคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม 59 ตัดสินจำคุก 16 ปี ถือเป็นคดีแรกที่ศาลมีคำพิพากษา จากคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่นทั้งหมด ที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท ที่สำคัญคำรับสารภาพของนายศุภชัยยังเชื่อมโยงจนได้หลักฐานชัดเจนในการเอาผิดพระธัมมชโย
การสอบสวนพบว่าระหว่าง 5 มีนาคม 52 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 54 สหกรณ์ฯ คลองจั่น ที่มีนายศุภชัยเป็นประธานขณะนั้น ได้สั่งจ่ายเช็คให้กับพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย รวม 15 ฉบับ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท โดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอชุดเดิมสรุปไว้ว่าพระธัมมชโยยอมรับว่ารับเช็ค 13 ฉบับ ซึ่งเช็คบางฉบับมีการสลักหลังและโอนเงินหลักร้อยล้านบาทกลับไปยังบัญชีบุคคลอื่นแทน และมีชื่อกลุ่มพระเป็นผู้รับโอนเงิน อาทิ พระวิรัช 100 ล้านบาท, พระมนตรี 100 ล้านบาท, พระครูปลัดวิจารณ์ 119 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีพระเครือข่ายวัดพระธรรมกายอีก 20 รูป ที่ได้รับเช็คจากนายศุภชัย อีก 400 ล้านบาท
ดีเอสไอออกหมายเรียกพระธัมมชโยให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง 3 ครั้ง แต่ทนายความขอเลื่อน อ้างติดศาสนกิจ และอาพาธ หลังจากออกหมายเรียกครั้งที่สาม 1 วัน ดีเอสไอจึงยื่นต่อศาลอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย จากนั้นอีก 1 เดือน ได้ส่งสำนวนคดีพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ไปยังอัยการ
อีก 5 เดือนต่อมาอัยการมีคำสั่งคดี สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด และให้นำตัวผู้ต้องหาคือ พระธัมมชโย มาส่งตัวให้พนักงานอัยการภายในอายุความ 15 ปีนับแต่วันที่ผิด นอกจากคดีในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ในคดียักยอกทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับสหกรณ์ฯ คลองจั่น ยังมีคดีบุกรุกที่ดินในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกกว่า 300 คดี โดยตำรวจแยกเป็น 10 กลุ่มคดี และเป็นคดที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่จังหวัดตาก จังหวัดเลย และจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นคดีประเภทบุกรุกที่ดิน และเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ป่าไม้ โดยมีร้อยละ 70 ของจำนวนดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีกับพระธัมมชโยโดยตรง.-สำนักข่าวไทย