กทม. 29 ธ.ค. – การดื่มสุราเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่าในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา จำนวนนักดื่มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มีกลุ่มเสี่ยงที่จะติดสุราในระยะยาว คือ นักดื่มหน้าใหม่ และกลุ่มคนที่ดื่มหนัก
จากการสุ่มเก็บสถิติในโรงพยาบาล 32 แห่ง โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่และสงกรานต์ปีนี้ เพื่อเปรียบเทียบกับช่วงปกติ พบว่ามีผู้ประสบอุบัติเหตุเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น ในจำนวนนี้ยอมรับว่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุภายใน 6 -24 ชั่วโมง กว่า 5,000 คน และยังพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าถึง 2 เท่า
ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุราให้ข้อมูลว่า นอกจากอัตราผู้บาดเจ็บจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลที่เพิ่มขึ้น ยังพบว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะการติดแอลกอฮอล์ในระยะยาวได้ เนื่องจากการดื่มติดต่อกันหลายวันเป็นเวลานาน รวมทั้งมีแรงกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมและคนรอบข้าง จนต้องเข้าสู่การบำบัดอาการติดสุรา ซึ่งในไทยนิยมบำบัดด้วยการเน้นสร้างแรงจูงใจให้เลิกดื่ม หรืออาจใช้ยาร่วมในบางกรณี เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้รับการบำบัดอย่างรุนแรง
สถานการณ์ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนของนักดื่มมีแนวโน้มคงที่และไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คิดเป็นร้อยละ 32-33 ในคนไทย 3 คน จะมี 1 คน ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เมื่อแยกตามเพศกลับพบว่า นักดื่มเพศชายมีจำนวนลดลงจากร้อยละ 55 เหลือร้อยละ 52 แต่กลับพบเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้หญิง เด็กและเยาวชน
นักวิจัยด้านปัญหาสุรา ระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่นิยมเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำลง จากงานวิจัยพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปีลดลงจาก 8 ลิตรต่อคนต่อปี เหลือ 6.9 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งอาจทำให้ผู้หญิงและเยาวชนอาจเข้าถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงตกเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่าคนไทยทั้งชายและหญิงมีพฤติกรรมการดื่มหนักเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 ซึ่งเป็นพฤติกรรมการเสี่ยงต่ออันตรายและเกิดอุบติเหตุ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่นักดื่มมีพฤติกรรมและช่วงเวลาในการดื่มเปลี่ยนไปจากช่วงปกติ
มีผลการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ พบว่าการเมาสุราเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บที่สมอง พบได้ถึงร้อยละ 40 ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บจากผู้เมาสุรา ในปีหน้าภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ห่วงใยในเรื่องนี้ จึงมุ่งเน้นไปที่การจัดการผลกระทบจากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มือสอง ซึ่งเป็นอันตรายที่มักเกิดกับบุคคลรอบข้าง พร้อมกับรณรงค์ลดการดื่มและดำเนินมาตรการทางภาษีควบคุมการจำหน่าย. – สำนักข่าวไทย