กทม. 6 มิ.ย. – โรงพยาบาลรามาธิบดีนำระบบรักษาผู้ป่วยทางไกลแบบเรียลไทม์ หรือเทเลเมดิซีน มาใช้ พบว่าได้ผลดีมาก ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่สามารถลดความแออัดผู้ป่วย ลดเสี่ยงติดเชื้อได้ดี
เมื่อถึงเวลานัดหมาย เจ้าหน้าที่ประสานแพทย์เพื่อให้ตรวจรักษาคนไข้ที่ป่วยทั้งเบาหวาน ความดันโลหิต ไขมันสูง และไตวายเรื้อรัง ที่อยู่จังหวัดชัยนาท ผ่านระบบเทเลเมดิซีน หมอถามถึงอาการเวียนหัว ผลข้างเคียงของยา ค่าน้ำตาล และตรวจสอบรายชื่อยาให้ถูกต้อง ก่อนจ่ายยาให้เพียงพอจนถึงนัดตรวจครั้งหน้า โดยคนไข้ขอยานอนหลับเพิ่ม ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ไม่ได้ ต้องให้ไปเบิกที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เทเลเมดิซีนใช้กับผู้ป่วยอาการคงที่ เป็นการสื่อสารสองทาง เพื่อความเข้าใจตรงกัน
แม้ภาระงานจะเพิ่มขึ้นทุกหน่วย ตั้งแต่เวชระเบียนจนถึงส่งยาทางไปรษณีย์ แต่เพื่อเป้าหมายลดความเสี่ยง ลดการติดเชื้อของคนไข้ ทุกคนก็ร่วมใจทำ สปสช. สนับสนุนโรงพยาบาลทุกระดับให้นำเทเลเมดิซีนมาใช้ โดยจ่ายชดเชยให้ทุกหน่วยบริการ และเทเลเมดิซีนจะมีความสมบูรณ์ขึ้นในอนาคต เห็นชัดคือการไปรับยาใกล้บ้านเพิ่มขึ้นมาก ในอนาคตอาจเพิ่มการตรวจแล็บ และอื่นๆ เพื่อให้เทเลเมดิซีนมีความสมบูรณ์มากขึ้น
เดิมทุกโรงพยาบาลมีนโยบายลดจำนวนผู้ป่วยทั้งในและนอกลง แต่คงไว้ซึ่งการรักษาที่มีประสิทธิภาพ นโยบายนี้เห็นผลได้ชัดเจน เมื่อมีสถานการณ์ โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้น ร่วมกับมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีรองรับ
เทเลเมดิซีน ถือเป็น New Normal ของการรักษาในอนาคต ล่าสุดระยะเวลาเพียง 2 เดือน โรงพยาบาลรามาธิบดีมีคนไข้ในระบบเทเลเมดิซีน 5,700 กว่าราย คิดเป็น 5.39% ของผู้ป่วยที่ตรวจตามปกติ กระจายอยู่ทั้งแผนกอายุรกรรม ศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ เด็ก จิตเวช และสูตินรีเวช.-สำนักข่าวไทย
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/11/1487644/1739274984_015448-tnamcot.jpg)