กรุงเทพฯ
28 พ.ค.-“สนธิรัตน์” ยอมรับไฟฟ้าไทยล้นความต้องการ เร่งหาทางแก้ปัญหาด้วยการส่งออก
สร้างเครือข่ายอาเซียน ส่วนเอสพีพี หากต้องเลื่อนก็ต้องเจรจาให้เหมาะสม
ด้านการนำเข้าแอลเอ็นจีชี้ไม่ใช่ตลาดเสรีต้องขออนุญาตนำเข้าจากรัฐเพื่อคุมความมั่นคงด้านพลังงาน
นายสนธิรัตน์
สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว
(แอลเอ็นจี )หลังจากที่ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน และออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ
(LNG Shipper)รายใหม่ เพิ่มขึ้น รวมถึง 5
รายแล้วว่า ตลาดก๊าซฯจะยังไม่ใช่ตลาดเสรี การอนุญาตนำเข้านั้นจะไม่ใช่ปริมาณตามที่เอกชนเสนอนำเข้าขั้นสูงสุด
โดยปริมาณนำเข้า จะต้องดูถึงความมั่นคง คุณภาพก๊าซฯ
และที่สำคัญต้องดูถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ต่ำที่สุดเป็นหลัก จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งในขณะนี้กระทรวงพลังงาน
ร่วมกับ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังดูปัญหาอุปสรรค
หลัง กฟผ.ได้นำเข้ามาแอลเอ็นจี 2 ลำเรือเข้ามาทดสอบระบบ
การให้บริการแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access ) ซึ่งรับทราบเบื้องต้น
ปัญหาด้านคุณภาพก๊าซฯที่ใช้ร่วมกันในระบบท่อ
ก็ต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนที่จะอนุญาตนำเข้าในรอบต่อไป
ส่วนกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอขอให้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี
จากกรณีที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมกันแบกรับภาระค่าไฟฟ้าจากการที่รัฐกำหนดผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการว่า
ยอมรับว่าการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันเกินความต้องการเพราะการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้แล้วตามแนวทางการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)และเทคโนโลยีดังกล่าวที่กำลังมาเร็วขึ้นก็จะมีส่วนสำคัญต่อการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญโดยเมื่อถึงเวลานั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วหรือ
Disruptive Technology จะทำให้การใช้ไฟโตก้าวกระโดดและหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวถึงเวลานั้นไฟฟ้าที่มากขณะนี้อาจไม่เพียงพอก็เป็นไปได้
“
ระยะสั้นหากมีการพิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องเจรจาเลื่อนโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ
เอสพีพี ออกไปเพื่อบริหารไฟฟ้าให้สมดุลกับความต้องการก็ทำได้ โดยสามารถเลื่อนเข้า
เลื่อนออกให้เหมาะสมได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดู”นายสนธิรัตน์กล่าว
ส่วนมาตรการค่าไฟฟรีไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนและสวนลดค่าไฟฟ้า
3 เดือน(มี.ค.-พ.ค.63) เมื่อเทียบกับเดือนฐานกุมภาพันธ์ เพื่อลดผลกระทบโควิด-19 ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนพ.ค.นั้น
ยังไม่ได้มีการหารือว่าจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวแต่อย่างใดเนื่องจากเห็นว่ามาตรการคลายล็อกดาวน์ได้ผ่อนคลายมากขึ้นดังนั้นผลกระทบจะไม่มากเช่นที่ผ่านมาที่คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน(Work From Home) เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน
ยังมีมาตรการลดค่าไฟไฟฟ้าร้อยละ 3 ที่ยังคงช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้อีกส่วนหนึ่ง-สำนักข่าวไทย