ศบค. เผยผู้ป่วยใหม่ 15 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย

ทำเนียบฯ 22 เม.ย.-ศบค. เผยผู้ป่วยใหม่ 15 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ชื่นชมแม้ตัวเลขลดลง แต่ยังวางใจไม่ได้ กังวลหากผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาสูงขึ้น และสูญเสียทุกอย่างที่เสียสละร่วมกันทำมาอย่างดี 


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้ (22 เม.ย.)ไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 15 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,826 ราย รักษาหาย 2,352 ราย รักษาตัวอยู่ 425 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิต รวม 49 ราย โดย ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็น หญิงไทย อายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับลูกสาว ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอ ไข้ มีเสมหะ มีน้ำมูก เมื่อ 20 มีนาคม และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อ 22 มีนาคม จากนั้น 28 มีนาคม ตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 ขณะรักษาตัวมีอาการทรุดลง เหนื่อยหอบ ถ่ายเหลว อาการไม่ดีขึ้น เสียชีวิตในเวลาต่อมา 

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่ลดลง ถือเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ระหว่างทาง แต่ก็ยังไม่จบสิ้น เพราะการเผชิญกับไวรัสนี้ถือเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ แต่ภารกิจนี้อาจจะทอดยาวอาจจะเป็นเดือนหรือเป็นปี  ซึ่งผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร นนทบุรีและในต่างจังหวัด มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมกันของทุกคนใน 7-14 วันที่ผ่านมา และผลของการทำในวันนี้จะเห็นใน 7- 4 วันข้างหน้า ดังนั้นวันนี้เบาใจขึ้นมาได้แต่ยังวางใจไม่ได้ ขอการ์ดอย่าตก


น.พ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้งนี้จากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 15 ราย พบว่ามาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 ราย  คนไทยกลับจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุมชน 1 ราย อาชีพเสี่ยง ได้แก่ พนักงานขาย /ขนส่งสินค้า /ทำงานกับนักท่องเที่ยว 3 ราย ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ 

ส่วนผู้ป่วยสะสม 2,826 ราย พบใน 5 จังหวัดที่สูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,451 ราย และมีอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 2 ราย ภูเก็ต 193 ราย นนทบุรี 152 ราย สมุทรปราการ 109 ราย ยะลา 95 ราย และอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย และเมื่อจำแนกอัตราป่วยต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยไม่รวมผู้ป่วยที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ พบว่า จังหวัดภูเก็ต มีผู้ป่วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.69 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 25.58 ยะลา ร้อยละ 17.78 ปัตตานี ร้อยละ 10.95 และนนทบุรี ร้อยละ 12.10

ทั้งนี้มี 10 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานการรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทองและสตูล


และมี 36 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ได้แก่ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี จันทบุรี  นครนายก บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์  อุทัยธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ ระยอง ตาก ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร สุรินทร์ สระแก้ว อุบลราชธานีสุพรรณบุรี โดยเพิ่ม นครราชสีมา เข้ามาแทน อยุธยาที่มีรายงานพบผู้ป่วยใหม่เข้ามา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการวิเคราะห์ สถานที่แออัดที่ผู้ป่วยเคยเดินทางไปช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วย โดยในกรุงเทพมหานคร พบมากที่สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน โรงภาพยนตร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ฟิตเนส วัด ร้านเสริมสวย มหาวิทยาลัย ร้านอาหาร พื้นที่ท่องเที่ยว ตลาด ห้างสรรพสินค้า การใช้ขนส่งสาธารณะและสถานที่ทำงาน โดยสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในการวางมาตรการผ่อนปรนที่อาจจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพื่อจะได้วางมาตรการ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจว่าจะวางนโยบายอย่างไร

โฆษก ศบค. กล่าวถึง ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มมีอาการจนถึงวันที่ได้เก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ พบว่าค่าเฉลี่ยผู้ป่วย 542 ราย เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ส่วนใหญ่จะเข้าไปตรวจในวันที่ 4 จากที่มีอาการ ซึ่ง 3 วันระหว่างนั้นอาจมีการแพร่กระจายเชื้อไปแล้วและพบมีบางราย 28 วันผ่านไป ได้เข้าไปตรวจและพบติดเชื้อ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะไปแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่นต่อไป โดยนิยามผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค พบมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก และเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงในช่วง 14 วันอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่มีประวัติเดินทางไปหรือมาจากหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดโรค ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด ไปสถานที่ชุมชน ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า โดยทั้งหมดหากเข้าเกณฑ์จะได้รับการตรวจฟรี  ซึ่งในปัจจุบัน ยืนยันมีระบบการคัดกรองอย่างดี มีชุดตรวจมากเพียงพอและมีสถานที่รับตรวจมากกว่า 100 แห่ง 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์โลกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 2,554,568 ราย เสียชีวิต 177,402 ราย สหรัฐอเมริกาพบติดเชื้อมากที่สุด 817,952 ราย เสียชีวิต 45,279 ราย ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 55 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,111 รายในวันเดียว ซึ่งต้องนำตัวอย่างจากสิงคโปร์มาเรียนรู้ 

“ผอ.ศบค. พูดว่า สิ่งที่จะต้องตัดสินต่อไป ขึ้นอยู่กับตัวเลขเหล่านี้ เพราะถ้าปรับมาตรการให้มีการผ่อนปรน จนอ่อนลงไปมาก ๆ แล้วเกิดการติดเชื้อขึ้นมาอย่างนี้ ก็จะทำให้สิ่งที่ทำมาดีทั้งหมดร่วมเดือน ที่ทุกคนเสียสละกันมา จะพังทลายลงในเวลาอันสั้น และเราจะสูญเสียทุกอย่างที่เราทำมาทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ต้องมีการเน้นย้ำในการเรียนรู้จากประเทศรอบบ้านของเรา” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว 

โฆษก ศบค. กล่าวถึงแบบสำรวจความเครียดใน 3 ช่วงเวลา 12-18 มีนาคม , 30 มีนาคม-5 เมษายน และ 13-19 เมษายน พบว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขมีความเครียดเพิ่มมากขึ้นตามช่วงเวลา โดยช่วงเวลาล่าสุด 13-19 เมษายน พบว่า มีความเครียดมากที่สุด ร้อยละ 5.2 เครียดมาก ร้อยละ 4.2 เครียดปานกลางร้อยละ 24.6 เครียดน้อย ร้อยละ 66 ขณะที่ประชาชนก็มีความเครียดมากขึ้นเช่นกัน โดยพบว่าเครียดมากที่สุด ร้อยละ 2 เครียดมาก ร้อยละ 4.1 เครียดปานกลาง ร้อยละ 25.7 และเครียดน้อย ร้อยละ 68.2 ซึ่งตัวเลขทั้งหมดสอดคล้องกันในช่วงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงไม่แปลกที่จะมีความเครียดเช่นนี้ เพราะเป็นผลด้านจิตใจในสถานการณ์ไม่ปกติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูแลทุกคน เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวที่แตกต่างกัน และเป็นเรื่องที่ดีที่คนส่วนใหญ่ในประเทศมีการปรับตัวและมีความเครียดน้อย ขณะที่บุคลากรด้านสาธารณสุข ก็สามารถมีความเครียดได้เพราะได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมสุขภาพจิตและศูนย์สุขภาพเขตทั้งหลายเข้าไปดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมถึงต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ค่าตอบแทน รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอ ขณะที่ประชาชนที่มีความเครียดต้องแสดงตัว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล

นอกจากนี้ มีผู้ฝ่าฝืนการประกาศเคอร์ฟิว โดยมีประชาชนออกนอกเคหสถาน 554 ราย รวมกลุ่มชุมนุมและมั่วสุมจำนวน 55 ราย

อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีเที่ยวบินคนไทยที่ตกค้างเดินทางกลับไทย จาก ประเทศรัสเซีย 25 คน เกาหลีใต้ 60 คน และเวียดนาม 115 คน.-สำนักข่าวไทย       

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สาวซิ่งรถหรูชนท้าย จยย. ทำแม่ลูกดับ 3 ศพ

แม่ขี่ จยย.ไปรับลูก 2 คน กลับจากเรียนพิเศษ ถูกสาวขับรถหรูซิ่งชนท้าย ร่างกระเด็นตกสะพานข้ามรางรถไฟ เสียชีวิตทั้ง 3 คน ส่วนผู้ก่อเหตุอุ้มแมว ทิ้งรถ หลบหนีไป

ปิดล้อมล่ามือปืนคลั่งสังหาร 3 ศพ

ตำรวจเร่งไล่ล่ามือปืนคลั่งก่อเหตุยิง 3 ศพ ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ล่าสุดปิดล้อมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ รอยต่อ จ.เลย หลังพบเบาะแสคนร้ายหนีไปซ่อนตัว ขณะที่ชนวนสังหารยังไม่แน่ชัด

ลูกชายมือปืนคลั่งยิง 3 ศพ พาครอบครัวหนีตาย พ่อโพสต์ขู่ฆ่าล้างครัว

ลูกชายมือปืนคลั่งยิงดับ 3 ศพ ต้องพาภรรยาและลูก รวมถึงพ่อตา-แม่ยาย หนีไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง หลังพ่อโพสต์ข้อความขู่จะฆ่าล้างครัว เหตุจากปัญหาในครอบครัว

ชายคลั่งยิง3ศพ

ชายคลั่งยิงดับ 3 ศพ โผล่วัดที่ จ.เลย ขอข้าวกิน ก่อนหนีเข้าป่า

แม่ครัววัดภูคำเป้ ต.ผาสามยอด อ.เอราวัณ จ.เลย เผยพบชายคลั่งยิงดับ 3 ศพ เดินเข้ามาในวัดด้วยสภาพอิดโรย ขอข้าวกิน ลักษณะรีบกินเหมือนวิตกกังวล หลังกินเสร็จรีบเดินเข้าป่าหายไป ก่อนมาทราบภายหลังว่าเป็นผู้ก่อเหตุยิงคนเสียชีวิต

ข่าวแนะนำ

คานถล่มพระราม2

ตร.ทางหลวง แนะเลี่ยงถนนพระราม 2 หลังการจราจรเข้าขั้นวิกฤต

ตำรวจทางหลวง เผยการจราจรถนนพระราม 2 เข้าขั้นวิกฤต แนะเส้นทางเลี่ยงทั้งขาเข้าและขาออกกรุงเทพมหานคร ยังไม่ชัดเปิดการจราจรได้ตามปกติเมื่อใด

คานถล่มพระราม2

“สุริยะ” สั่งผู้รับเหมาหยุดก่อสร้าง ถนนพระราม 2 ตัดสิทธิ์รับงาน 2 ปี

“สุริยะ” รมว.คมนาคม เผยเย็นวันนี้เตรียมกลับไปตรวจสอบสาเหตุคานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่ม สั่งการผู้รับเหมาหยุดก่อสร้าง รวมทั้งตัดสิทธิ์รับงาน 2 ปี และขอให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรการลดชั้นผู้รับเหมา เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ

น้ำท่วมยะลา

น้ำท่วมยะลาวันที่ 3 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบ 8 อำเภอ

วิกฤตน้ำท่วมยะลาวันที่ 3 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ย่านการค้าเศรษฐกิจ พื้นที่รอบนอกยังอ่วม ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย สรุปกระทบ 8 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 131,685 คน