กรุงเทพฯ 21 เม.ย. -“สมคิด ” เตรียมถก”สนธิรัตน์” ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังมีการร้องขอได้รับผลกระทบ จากโควิด-19 ด้าน กกพ.เตรียมหารือ 3 การไฟฟ้า หาวงเงินบริการจัดการ หลังรัฐบาลเห็นชอบลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนทั่วประเทศ วงเงิน 2.3 หมื่นล้าน ในขณะที่มีวงเงินในมือเพียง 1 หมื่นล้านบาท
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบการพิจารณามาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ภาคครัวเรือน ระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. ว่า จะใช้เงินรวมในการคิดอัตราส่วนลดทั้ง 22 ล้านครัวเรือน ในวงเงิน 23,688 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยใช้วงเงินที่มาจาก วงเงินที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแล ที่มาจาก 3 การไฟฟ้า ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบ ก็เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ หรือแจ้งตรงมายังอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง
“ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในกลุ่มของไฟบ้านที่ใช้ในครัวเรือนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ที่ร่วมมือกันดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำงานที่บ้าน ตลอดจนขอขอบคุณกกพ.และ 3การไฟฟ้าที่ดูแลเรื่องนี้” นายสนธิรัตน์กล่าว
นางอรรชกา สีบุญเรือง กรรมการ กกพ. กล่าวว่า กกพ.จะเร่งพิจารณาโดยจะใช้วงเงินบริหารจัดการ ทั้งเรื่อง CALL BACK หรือ เงินที่ 3 การไฟฟ้าลงทุนไม่เป็นไปตามแผน บทปรับของโรงไฟฟ้าต่างๆที่ดำเนินการไม่เป็นไปตามกำหนด และผลดำเนินการด้านฐานะการเงินของ 3 การไฟฟ้าที่มีการกำกับดูแล โดยยอมรับว่าในขณะนี้ มีวงเงินส่วนนี้เหลืออยู่ประมาณ 1 หมื่นล้าน บาทเท่านั้น เนื่องจากวงเงินที่ผ่านได้เข้ามาดูแลทั้งการตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) เงินลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 ก็มาจากเงิน ส่วนนี้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม กกพ.จะหารือกับ 3 การไฟฟ้า ว่าจะมีส่วนของการลดต้นทุนเพื่อให้เงินส่วนนี้มีเพิ่มได้อย่างไร โดยก่อนหน้านี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เสนอว่า ควรนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) ที่ราคาถูกกว่าก๊าซฯในอ่าวไทยมาใช้ ผลิตไฟฟ้า เพราะ ราคาก๊าซอ่าวไทย อ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาน้ำมันในปัจจุบัน และยังมีผู้เสนอว่า ให้เฉลี่ยราคาก๊าซฯเป็นต้นทุนปัจจุบันไปก่อนแล้วค่อยไปเสี่ยงกับราคาในอนาคต ซึ่งค่าไฟฟ้าอาจจะไม่ได้ลดตามต้นทุนที่แท้จริง ประเด็นเหล่านี้ก็คงจะต้องมาหารือกัน
“ในส่วนที่ดูวงเงินที่ กกพ.บริหารจัดการ คาดว่าจะดูแลภาคครัวเรือนที่เดือดร้อนจากการป้องกัน โควิด-19 ได้ เพราะ ตามช่วงเวลาที่จะใช้ไฟฟ้าตามข้อกำหนดก็เหลืออีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง หรือจะสิ้นสุดเดือน พ.ค. ก็อยากให้ประชาชนมีความสบายใจ แต่หากรัฐบาลจะให้ดูแลค่าไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติม เงินส่วนนี้อาจจะไม่เพียงพอ คงจะต้องหารือกันว่า จะมีวงเงินส่วนไหนมาช่วยเหลือ” นางอรรชกากล่าว
สำหรับมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ใช้ในครัวเรือนที่รายงานต่อ ครม.วันนี้ (21 เม.ย.) มี 2 กลุ่ม คือ
1. มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย หรือหากเกินก็ดูแลเช่นกัน
2. มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดเกิน 5 แอมป์ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1 หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือน ก.พ. แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. , หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนที่เกิน จะได้รับส่วนลดร้อยละ 50 ,หากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนเกิน ซึ่งจะได้รับส่วนลด ร้อยละ30 โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในวันที่ 23 เม.ย. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะหารือกับ รมว.พลังงาน ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งจะร่วมประชุมคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย ซึ่งจะเน้นให้กองทุนฯนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ . – สำนักข่าวไทย