18 เม.ย.-จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร้านค้าต้องปิดหน้าร้าน หลายธุรกิจหันไปพึ่งออนไลน์ จึงเกิดการรวมกลุ่มทำตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มศิษย์เก่าสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่ใช้โอกาสนี้ตั้งกลุ่มฝากร้านใช้เป็นช่องทางให้ผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสถาบันมาเจอกัน
แม้จะผ่านไปเพียง 10 กว่าวัน แต่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ก็มีสมาชิกเข้าร่วมในกลุ่มแล้วกว่า 100,000 คน กลุ่มนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นช่องทางโปรโมท และซื้อขายสินค้าในช่วงที่ผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ภายในกลุ่มบรรยากาศแทบไม่แตกต่างจากตลาดจริงๆ เพราะเต็มไปด้วยภาพสินค้า และคำเชิญชวนของผู้ขาย ตั้งแต่อาหารสด เช่น ผักสวนครัว และอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว หรือจะเป็นของใช้ที่หลายคนคุ้นตา และสินค้าที่หลายคนนึกไม่ถึง เช่น โพสต์ขายหมูป่า จากฟาร์มของครอบครัวที่จังหวัดเลย โพสต์ขายจระเข้ตัวเป็นๆ จากฟาร์มที่ปราจีนบุรี พร้อมใบอนุญาตเคลื่อนย้าย หรือแม้แต่ธุรกิจซ่อมอากาศยานก็ใช้ช่องทางนี้ ในการโปรโมทเช่นกัน
หนึ่งในทีมแอดมินผู้ดูแลกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการฝากร้าน เล่าว่า แม้จะเปิดกลุ่มได้เพียงไม่นาน แต่ก็ช่วยทำให้ผู้ประกอบการหลายคน สามารถมีรายได้ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 แม้จะไม่เท่าเดิมเหมือนในช่วงสถานการณ์ปกติ แต่ก็พออยู่ได้
ความสำเร็จของการใช้ช่องทางอีมาร์เก็ตเพลส หรือตลาดออนไลน์ เข้ามาเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ของกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการฝากร้าน ทำให้นี่กลายเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายมหาวิทยาลัยจนเกิดกลุ่มในเฟซบุ๊กอีกหลายกลุ่ม เช่น จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ตลาดนัด มศว ศิลปากร ออนไลน์ มาร์เก็ต ม.กรุงเทพ มาร์เก็ตเพลส เกษตรแฟร์ออนไลน์ กาดหมั้วซั่วแห่งมหาลัยเชียงใหม่
หรือจะเป็นกลุ่มจุ๊บแจง แจ้งเกิด เปิดตลาดของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เปิดได้เพียง 3 วัน แต่มีสมาชิกแล้วกว่า 5,000 คน ผู้ก่อตั้งกลุ่มซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ ภาควิชานิเทศศาสตร์ ม.บูรพา และปัจจุบันทำงานอยู่ในแวดวงการตลาด และโฆษณา เธอบอกว่า ในสถานการณ์ปกติ ตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านได้รับผลกระทบ ตลาดออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางซื้อขายสินค้าที่เข้ามามีบทบาทเพราะเป็นสื่อที่ผู้ซื้อ และผู้ขายเข้าถึงกันง่ายมากที่สุด
จุดเริ่มต้นของการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่หลายคนมีไอเดีย อยากใช้ช่องทางนี้เป็นสื่อกลางในการเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงยังต้องการ จะช่วยเหลือคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น นี่จึงกลายเป็นเหมือนเครือข่ายตลาดขนาดใหญ่ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ไปจนถึงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19.-สำนักข่าวไทย