กรุงเทพฯ 17 เม.ย. – ยอดใช้น้ำมันลดฮวบ ส่งผลกองทุนน้ำมันอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพลดต่ำกว่าคาด ด้าน “มนูญ” เสนอยืดเวลาการลดสำรองน้ำมันโรงกลั่นฯ ร้อยละ 4 จากเดิมให้ลดเพียง 1 ปี
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. เปิดเผยว่า ในบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธานจะพิจารณาแผนบริหารงานนับจากนี้ ซึ่งจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 และภาครัฐมีหลายมาตรการมาสกัดกั้นส่งผลยอดใช้น้ำมันลดลง โดยเดือนมีนาคมยอดใช้ลดลงร้อยละ 8 จึงส่งผลให้กองทุนน้ำมันไม่ได้อุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพในวงเงินที่สูง โดยเฉพาะไบโอดีเซล บี 10 โดยเดิมนั้นคาดว่ากลางปีเงินสุทธิของกองทุนจะเหลืออยู่ที่ 28,000 ล้านบาท แต่จากยอดใช้น้ำมันที่ลดลงและราคาแอลพีจีอยู่ในเกณฑ์ต่ำคาดว่าจนถึงกลางปียอดเงินสุทธิกองทุนจะอยู่ที่ประมาณ 36,000 ล้านบาท โดยภาวะราคาน้ำมันต่ำและเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินกองทุนเพิ่มแต่อย่างใด
“การใช้บี 10 ขณะนี้ แม้จะอุดหนุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าบี 7 ในอัตรา 3 บาทต่อลิตร แต่ด้วยยอดใช้ลดลงเพราะการขนส่งและการท่องเที่ยวกระทบจากปัญหาโควิด-19 ทำให้ยอดใช้บี 10 ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดเดือนมีนาคมจะเพิ่มเป็น 20 ล้านลิตร และสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 57 ล้านลิตรต่อเดือน ดังนั้นเงินกองทุนฯ ที่อุดหนุนก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทำให้ฐานะกองทุนฯ เรียกได้ว่าเพียงพอสำหรับการดูแลเสถียรภาพราคาในอนาคต” นายวีระพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระพล จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ผอ.สกนช.ในวันที่ 19 เมษายนนี้ เนื่องจากอายุครบ 65 ปี ทำให้กระทรวงพลังงานต้องสรรหา ผอ.สกนช.คนใหม่มาทำงานต่อ
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แนะว่ากระทรวงพลังงานควรใช้โอกาสราคาน้ำมันต่ำเช่นนี้ ทยอยยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันอี 85 และบี 20 เพราะมียอดเงินที่อุดหนุนต่อลิตรสูงถึงกว่า 7 บาทและ 4 บาทต่อลิตรตามลำดับ หากดูราคาหน้าโรงกลั่นฯ ราคาเบนซิน 95 อยู่ที่ 5.32 บาท/ลิตร แต่ราคาอี 85 ราคาสูงถึง 18.79 บาท/ลิตร ซึ่งจากสถานการณ์ตลาดน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปการอุดหนุนเชื้อเพลิงต่าง ๆก็ควรจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยน้ำมันอี 85 นั้น เกิดมาในช่วงน้ำมันแพงและไทยจึงต้องการส่งเสริมการใช้พืชพลังงานในสัดส่วนที่สูง แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันต่ำ ยอดใช้มีปริมาณต่ำมาก ผู้ใช้รถหันไปเติมน้ำมันประเภทอื่น ๆ มากกว่า หากยิ่งลดประเภทน้ำมันก็จะช่วยผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันที่มีต้นทุนภาระหัวจ่ายน้ำมันของไทยมีปริมาณมากเกินไป
ส่วนเรื่องการลดสำรองน้ำมันทางกฎหมายของโรงกลั่นน้ำมัน นายมนูญ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะขณะนี้ กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้รับผลกระทบหนัก จากยอดใช้น้ำมันที่ลดลงทั้งน้ำมันเครื่องบิน น้ำมันรถยนต์ โดย ครม.ได้เห็นชอบให้ระยะแรกลดสำรองจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากเดือนเมษายนนี้ จากนั้นระยะที่ 2 สำรองเป็นร้อยละ 5 เป็นระยะเวลาอีก 1 ปี ซึ่งในส่วนระยะที่ 2 นั้น ภาครัฐควรจะทบทวน ยืดเวลาให้สำรองอยู่ในระดับร้อยละ 4 ให้นานขึ้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการระบาดของโควิด-19 จะนานมากน้อยขนาดไหน และจากภาวะน้ำมันล้นตลาด การจัดหาน้ำมันก็ไม่จำเป็นต้องมีสำรองในปริมาณสูงแต่อย่างใด โดยค่าการกลั่นขณะนี้ตกต่ำมาก ค่าการกลั่นเหลือประมาณ 0.58 บาท/ลิตร จากที่อัตราที่เหมาะสมไม่ควรต่ำกว่า 2 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2563 ลง จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 60,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นหดตัวลง 6.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามรายงานของกลุ่มโอเปกประจำเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวเร็วกว่าคาด หลังบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเร็ว ๆ นี้.-สำนักข่าวไทย