ทำเนียบฯ 16 เม.ย.- โฆษก ศบค. ย้ำแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะดีขึ้น แต่หากประเทศเพื่อนบ้านสถานการณ์ยังน่าห่วง ก็ยังไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้ เพราะนายกฯ ยึดสุขภาพเป็นสำคัญ เผยทีมงานสาธารณสุข ในฐานะเลขา ศบค.กำลังศึกษามาตรการผ่อนคลาย โดยหารือกับภาคเอกชนอย่างเข้มข้น ระบุการปลดล็อก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจนายกฯ จะพิจารณา
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า อุปรณ์ AI ที่ นายกรัฐมนตรีไปติดตามการทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นอุปกรณ์ที่จะเป็นตัวช่วยเจ้าหน้าที่ในการ ตรวจคนไข้ที่ตรวจเชื้อโควิด-19 จากรูปแบบเดิม คือการใช้ไม้พันเข้าไปดึงเชื้อจากจมูกด้านหลังสุดและดึงออกมาเพื่อที่จะเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจเข้าเครื่อง PCR ซึ่งต้องใช้เวลา และมีความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในการตรวจ เพราะการตรวจอาจมีการไอจามของคนไข้ หากเป็นผู้ที่ติดเชื้อจะมีความเสี่ยงเจ้าหน้าที่ต้องใช้ชุดในการป้องกัน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีมาจากจีนที่ใช้การรวบรวมสถิติของผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก มาบรรจุไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์จำ และเมื่อนำผู้ป่วยใหม่ใส่เข้าไป จะเกิดการคำนวนโดยฐานข้อมูลจะวิเคราะห์ให้ว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ หรือมีเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นการสกรีนคนไข้ที่ไม่ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงและติดเชื้อ โดยใช้เพียงไฟล์ภาพ CT scan หรือภาพเอ็กซเรย์ ของคนไข้ก็สามารถประมวลผลได้ว่าเข้าข่ายติดเชื้อหรือไม่
ส่วนการผ่อนปรนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่นั้น โฆษก ศบค.กล่าวว่า โดยหลักการเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์. ศบค. ที่ได้ให้นโยบายไว้ หลัก คือยึด สุขภาพ เป็นสำคัญตามมาด้วย เศรษฐกิจและสังคม หากเป็นเช่นนั้นต้อง ให้สุขภาพมาก่อน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวเลขของผู้ป่วย หากเราปล่อยตัวเราเองไม่รักษาระยะห่าง การ์ดตก อาจจะกลับมาติดเชื้อเพิ่ม
“หากต้องการให้เปิดห้าง ประชาชนจะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างใช้บริการได้หรือไม่ ทุกคนยอมรับกติกาได้หรือไม่ ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยในการทำทุกกิจกรรม เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่ ดังนั้นเห็นว่าการผ่อนคลาย ต่าง ๆ ต้องมีความรอบคอบ เพราะหากดูตัวอย่างจากประเทศที่มีการปล่อยปละละเลย จะเห็นได้ว่ามีผู้ติดเชื้อ ดีดกลับมา และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นการที่จำกัดพื้นที่ การเคลื่อนไหว ก็ยังคงมีความเสี่ยง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทีมงานกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ เลขาคณะ ศบค. กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่คือการผ่อนคลายและกลับมาสู่การใช้ชีวิตปกติ ทีมวิชาการชุดนี้กำลังทำงานอย่างเข้มข้น และดูแลอย่างเต็มที่ ดูในทุกมิติ ทั้งภาคเศรษฐกิจ นำเอกชนมานั่งพูดคุยกันว่าแต่ละมาตรการที่จะออกมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนี้ใกล้กรอบเวลาครบกำหนดการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือวันที่ 30 เมษายน แต่หากถึงเวลาตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงแดงไปทั้งโลก เราก็ยังคงต้องเฝ้าระวัง
“แม้ว่าเราจะทำตัวเลขได้สองหลักแต่ข้างบ้านประเทศรอบ ๆ มีตัวเลขสามหลัก บ้านเราปลอดภัย แต่ข้างบ้านไม่ปลอดภัย เราก็ไม่สามารถปล่อยได้ ต้องเข้าใจในสถานการณ์ การผ่อนปรนในภาพใหญ่ คนในภาพเล็กต้องมีส่วนร่วมด้วย หากคนไทยร่วมกันมีวินัยทุกคน เดินหน้าไปอย่างพร้อมเพียง เชื้อโรคก็จะไม่มา เพราะเขากลัวการรักษาระยะห่าง หากท่านสามารถทำได้ ก็ตอบโจทย์การผ่อนคลายนี้ได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
เมื่อถามว่าจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เลย จะสามารถยกเลิกประกาศที่เข้มงวด ได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วันที่ 26 มีนาคม- 30 เมษายน จะผ่อนคลายอัตโนมัติในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นอย่างนั้น จะตีความว่าวันที่1 พฤษภาคม กลับมาเป็นปกติเลยคงไม่ใช่ เพราะนายกรัฐมนตรี บอกแล้วว่าจะต้องประเมินก่อน 1 สัปดาห์ ก่อนพ.ร.ก.ครบกำหนด ว่าจะต้องขยายหรือไม่ แต่สถานการณ์เห็นอยู่แล้วว่า ตัวเลขการติดเชื้อ เสียชีวิต ของเพื่อนบ้านยังคงสูงอยู่ หากแต่ละจังหวัดจะผ่อนปรนตัวเอง ก็ต้องเป็นเรื่องที่หารือกันเชื่อว่านายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นผู้พิจารณา เราต้องสู้กับโควิด-19 อีกพอสมควร เพราะตอนนี้ในแต่ละประเทศยังไม่มีใครกล้าที่จะยกเลิกมาตรการที่เข้มข้น ดังนั้นการตัดสินใจขึ้นอยู่กับพื้นฐานชุดข้อมูลขอให้รอการประเมินก่อน
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ภาวะนี้คือการร่วมมือร่วมใจกัน 100% หากทำได้ 90% ก็ดีใจ และหากทั้งประเทศทำได้เกิน 100 เปอร์เซนต์ ก็ยิ่งดี เพราะเราต้องการความร่วมมือจากทุกคน ไม่มีแบ่งศาสนา เชื้อชาติ การเมือง เพราะทุกคนล้วนเป็นคนไทยที่ศัตรูของเราคือโควิด-19 เราต้องใช้ใจของเราสัมผัสเชื่อมใจสู้กับเชื้อโรคตัวเล็ก ๆ ให้หายไปจากประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย