กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – กอนช.ถกหน่วยเกี่ยวข้องประเมินสภาพอากาศช่วงแล้งต่อฝน เร่งหนุนแหล่งน้ำในพื้นที่เฝ้าระวังขาดน้ำอุปโภค-บริโภคแล้วเสร็จ พ.ค.นี้ พร้อมเร่งโครงการหาน้ำช่วงแล้งเก็บน้ำช่วงฝนให้แล้วเสร็จ ย้ำมาตรการขุดลอก กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำก่อนฝนมา
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากการติดตามประเมินสภาพอากาศและการคาดการณ์พบว่าเดือนเมษายนนี้จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลยาวไปถึงประมาณวันที่ 27 เมษายน โดยฝนที่ตกส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคกลางบางพื้นที่ ซึ่งได้เน้นย้ำทุกหน่วยงาน และภาคส่วนเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมเก็บกักน้ำให้มากที่สุด ส่วนการคาดการณ์พายุฤดูฝนขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มการเกิดพายุแต่อย่างใด ซึ่งคณะทำงานฯ จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์พายุและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือน และวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศเป็นระยะ ๆ ต่อไป
ขณะที่สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง อาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคหากไม่มีมาตรการรองรับ ซึ่งขณะนี้การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง และประปาท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการสำรวจและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตลอดช่วงแล้งจนถึงสิ้นมิถุนายนนี้ให้ได้
จากความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำปี 2562/2563 พบว่า จากแผนงานโครงการการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ 43 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,041 แห่งจากแผนงานที่ได้รับอนุมัติจากมติ ครม. (7 ม.ค.63) ซึ่งทุกหน่วยงานได้เร่งรัดดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเริ่มดำเนินการแล้ว 326 แห่ง จากแผนงาน 704 แห่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เตรียมดำเนินการ 550 แห่ง จากแผน 888 แห่ง กองทัพบก เริ่มดำเนินการแล้ว 164 แห่ง จากแผน 209 แห่ง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อยู่ระหว่างรอรับการจัดสรรงบประมาณ 181 แห่ง จากแผน 190 แห่ง การประปาส่วนภูมิภาค เริ่มดำเนินการแล้ว 43 แห่ง จากแผน 50 แห่ง
ขณะที่โครงการเร่งด่วนเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนปี 2563 และโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 (เพิ่มเติม) ที่ ครม.มีมติเมื่อ 17 มีนาคม 2563 รวม 6,806 โครงการ ดำเนินการโดย 11 หน่วยงาน พบว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรจากสำนักงบประมาณ ยกเว้นกรมชลประทานที่ได้รับการจัดสรรแล้ว 266 โครงการ ที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ซี่งที่ประชุมได้ติดตามเร่งรัดเพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายใน 30 มิ.ย.นี้ สามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้ได้ทันสถานการณ์
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้หารือมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำหลากฤดูฝนปี 2563 ได้แก่ การตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตร โดย 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงแผนการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปี 2563 การกำจัดวัชพืช ผักตบชวาในทางน้ำ โดยเร่งสำรวจแม่น้ำคูคลองด้วยภาพถ่ายดาวเทียมในแม่น้ำสายหลัก แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2563 ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ หากปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะวางแผนการจัดสรรน้ำ การส่งน้ำในแต่ละพื้นที่โดยแจ้งผ่านกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อเตรียมเริ่มต้นการเพาะปลูก ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำประเด็นต่าง ๆ นำเสนอสรุปเข้าสู่ที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมวันที่ 9 เมษายนนี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย