กรุงเทพฯ 5 เม.ย. – กอนช.ย้ำปีนี้ยังไม่พบสัญญาณน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54 วอนหยุดแชร์ข่าวเก่า ป้องกันสังคมเกิดความสับสน
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการเมื่อปี 2558 ระบุว่าปี 2563 จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 และมีการส่งต่อกันในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกได้นั้น คณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีการติดตามสภาพอากาศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์คาดการณ์สภาพอากาศ แนวโน้มการก่อตัวของพายุอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ซึ่งได้ประเมินวิเคราะห์ร่วมกัน
ทั้งนี้ ขอชี้แจง 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศล่วงหน้าและระยะยาวถึง 5 ปี (ปี 2558 – 2563) ดังนั้น จะมีความคลาดเคลื่อนสูง 2.ปี 2554 เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญากำลังแรง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งให้เกิดฝนตกหนัก แต่ปี 2563 ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ลานีญาแต่อย่างใด 3.จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้า 3 เดือน ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 จะมีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ 5% ยกเว้นภาคใต้ ส่วนเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2563 จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และ 4.เมื่อเปรียบเทียบสภาพฝนตกปี 2554 กับปี 2563 จะพบว่าปี 2554 ฝนเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือน เมษายน และเกิดฝนตกหนักในประเทศไทย ซึ่งเริ่มตกตั้งแต่ภาคเหนือ โดยมีฝนมากกว่าค่าปกติเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ประกอบกับมีพายุเข้าประเทศไทยโดยตรง 1 ลูก ขณะที่พายุอีก 4 ลูกมีอิทธิพล ทำให้ฝนตกหนักเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ส่วนปัจจุบันจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ยังไม่พบสัญญาณการเกิดฝนที่จะตกหนักตั้งแต่ต้นฤดูฝน รวมถึงปี 2554 ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเก็บกับต้นฤดูฝน มีปริมาณน้ำมากกว่า 50% แต่ปี 2563 น้อยกว่า 30% โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปัจจุบันมีช่องว่างรองรับน้ำอยู่มากถึง 16,000 ล้าน ลบ.ม. หากมีฝนตกแบบปี 2554 แหล่งน้ำต่าง ๆ จะสามารถเก็บกักปริมาณน้ำฝนที่ตกได้ ดังนั้น โอกาสเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแบบปี 2554 หรือเหตุบ่งชี้ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงน้ำท่วมจะเท่ากับปี 2554 นั้น จึงไม่มีความเป็นไปได้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สทนช.จะประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน กอนช.ติดตามสภาพอากาศเป็นระยะ ๆ และประเมินแนวโน้มสถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน พายุ รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ ใกล้ชิด มีการเตรียมการรับมือล่วงหน้า และแจ้งเตือนหน่วยงานเกี่ยวข้อง และประชาชน หากมีแนวโน้มของสภาพอากาศที่จะส่งผลกระทบในบริเวณกว้างโดยทันที.-สำนักข่าวไทย