กรุงเทพฯ 30 มี.ค. – ปลัดเกษตรฯ เร่งแผนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด-19 สั่งทุกหน่วยงานเร่งกระจายสินค้าเกษตรและอาหารผ่านกลไกสหกรณ์และระบบออนไลน์
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยกล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้สรุปรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์จากโควิด-19 และภัยแล้งทุกวัน โดยวันนี้เน้นย้ำให้เตรียมพร้อมบริการแก่ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือได้แก่ ไลน์และเฟซบุ๊ก รวมถึงบริการให้คำแนะนำผ่าน Call Center ด้วย เป็นการปฏิบัติงานภายใต้ประกาศที่ทางรัฐบาลกำหนด แต่ต้องไม่กระทบต่อการบริการให้กับประชาชน
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำด่วนที่สุด คือ การกระจายสินค้าเกษตรไปทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตและประชาชนมีอาหารบริโภค ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ใช้กลไกลสหกรณ์การเกษตรเป็นจุดรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตร 1,300 แห่งทั่วประเทศ จัดทำระบบขนส่งสินค้าให้ถึงจุดจำหน่ายโดยเร็ว หากจำเป็นจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานความมั่นคงช่วยขนส่ง โดยเฉพาะผลไม้ภาคตะวันออก ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังให้หาแนวทางสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทั้งของกรมต่าง ๆ และหากผู้ผลิตมีศักยภาพจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านออนไลน์ได้ ให้หน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุน โดยสินค้าจะส่งตรงจากผู้ผลิตถึงบ้านผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งผู้บริโภคสามารถลดการออกจากบ้านจึงลดดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า จากวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงทางด้านการเกษตรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผลไม้และไม้ดอกที่ผลิตเพื่อการส่งออก พืชผักที่กระทบกับผู้ขายรายย่อย ส่วนการส่งออกสินค้าประมง โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารแช่แข็งคาดว่าจะลดลงประมาณ 10 – 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 การนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มลดลง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้ง ปลาน้ำจืด และปลาสวยงามได้รับผลกระทบ กรมการข้าวรายงานว่า ผลผลิตข้าวนาปี 2562 มีจำนวน 24 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ด้านกรมปศุสัตว์รายงานว่า สินค้าเนื้อโค นมโค และสุกรมีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ
สำหรับไข่ไก่นั้น ขณะนี้ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 3-5 เท่า เนื่องจากความตื่นตระหนกต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการซื้อสำรองไว้ในครัวเรือนจำนวนมาก แต่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่าเมื่อประชาชนเกิดความมั่นใจและหยุดซื้อกักตุนสภาวะความต้องการสินค้าเทียมจะคลี่คลายภายในไม่ช้า ซึ่งยืนยันว่าปริมาณไข่ไก่มีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศแน่นอน แต่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์งดออกใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) ที่ต้องใช้ประกอบการส่งออกจนกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ตลอดจนงานประสานกับกรมศุลกากรและหน่วยงานความมั่นคงเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่จะเป็นปัญหาซ้ำเติมเกษตรกรไทย.-สำนักข่าวไทย