กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – กกพ.คาดตรึงค่าไฟฟ้าเอฟทีได้ถึงสิ้นปี เหตุต้นทุนพลังงานยังไม่ปรับขึ้น เงินบาทแข็งค่า และยังมีเงินส่วนได้จาก 3 การไฟฟ้าร่วม 1,000 ล้านบาทที่ใช้ดูแลค่าไฟฟ้าได้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยแนวทางดูแลอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศในปี 2563 เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของภาคประชาชน ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยขณะนี้มีทั้งปัจจัยบวก เช่น ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าถึง 60% ของค่าเชื้อเพลิงทั้งหมด ยังมีราคาไม่สูงมากนักตามทิศทางราคาน้ำมัน ประกอบกับ เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเชื้อเพลิงถูกลง ขณะที่ปัจจัยลบยังมีความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยต้องติดตามดูสถานการณ์ภัยแล้งว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างไร เพราะหากน้ำน้อยไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ก็จะส่งผลให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมีต้นทุนต่ำสุด แต่ยืนยันว่าปัญหาภัยแล้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศแน่นอน
อย่างไรก็ตาม กกพ.มองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถดูแลอัตราค่าไฟฟ้าอีก 2 งวดที่เหลือของปีนี้ คือ งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 และงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 ให้คงอัตราไว้ในระดับเดียวกับงวดแรกของปีนี้เดือนมกราคม-เมษายน 2563 เนื่องจากยังมีวงเงินส่วนได้จาก 3 การไฟฟ้า เหลืออยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่จะนำมาดูแลค่าไฟฟ้าให้กับภาคประชาชนได้
สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2563 ติดลบอยู่ที่ 11.60 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.7556 บาทต่อหน่วย
ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐานนั้น กกพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด คาดเปิดรับฟังความคิดเห็นได้ในไตรมาส 3-4 ปีนี้ และประกาศใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะคำนึงถึงพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าปัจจุบันเปลี่ยนไปและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทำให้แนวโน้มอนาคตจะมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองที่เพิ่มมากขึ้น แต่หากยังต้องเข้ามาพึ่งพาระบบไฟฟ้าหลัก ก็อาจจะต้องคิดค่าบริการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าหลัก ซึ่งส่วนนี้จะไม่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน
นอกจากนี้ กกพ.เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือนมีนาคมนี้ พิจารณาแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าเสรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เพื่อขอความเห็นชอบยกเว้นนโยบาย Enhanced Single Buyer ที่กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียวในเดือนเมษายนนี้ โดยให้ดำเนินภายใต้โครงการ ERC Sandbox ทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง เพื่อติดตามดูพฤติกรรมของผู้บริโภคและประสิทธิภาพของระบบว่าจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
เบื้องต้นโครงการ ERC Sandbox จะแบ่งกลุ่มศึกษา โดยกลุ่มแรกจะเป็นลักษณะที่ไม่มีผลกระทบต่อระบบโดยรวม และกลุ่มที่ 2 จะเป็นการซื้อขายไฟฟ้าจริง peer to peer หรือการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชนโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องปลดล็อคนโยบาย Enhanced Single Buyer ก่อน เพื่อดูพฤติกรรมของผู้ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันว่าจะมีผลกระทบค่าไฟฟ้า และภาพรวมระบบอย่างไร รวมถึงการกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของประชาชนต่อประชาชนที่ต้องการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าหลักด้วย
นอกจากนี้ ยังจะเสนอ กพช.พิจารณาแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย โดยจะร่วมมือกับหน่วยภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสมาคมยานยนต์ฯ จัดทำลักษณะพื้นที่ Sandbox เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและตลาดรถยนต์ EV ซึ่งจะเสนอ กพช.เห็นชอบอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น
“ตอนนี้บอร์ด กกพ.กำลังดูว่าจะกำหนดอัตราใหม่อย่างไร จะกำหนดเป็นพื้นที่ โดยดูตามพฤติกรรมการใช้ เช่น พื้นที่ไหนมีผู้ใช้บริการชาร์จไฟฟ้ามาก อัตราก็จะเก็บแพงกว่าพื้นที่ที่มีการใช้บริการน้อย หรือจะเป็นกำหนดอัตราตามช่วงเวลาแต่ละวัน ซึ่งภายใต้ Sandbox จะใช้เวลาทดลอง 1-2 ปี“ นายคมกฤช กล่าว
ส่วนอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าทั่วไปสำหรับพื้นที่ของเอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Sandbox จะยังคงเป็นไปตามอัตราชั่วคราวที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย