กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – กกพ.อนุมัติให้ บี.กริม ได้ใบอนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจี รายที่ 5 ของประเทศ ประมาณ 6.5 แสนตัน/ปี ผู้บริหารคาดรายได้ปีนี้ไม่ต่ำกว่าแผน แม้เศรษฐกิจจะติดลบจากโควิด-19
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.วันนี้ (27 พ.ค.) เห็นชอบให้บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper ) เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย ปริมาณ 650,000 ตัน/ปี เริ่มปี 2565 รวมแล้วประเทศไทยมีผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งหมด 5 ราย จากเดิมประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าเสรี ภายใต้การส่งเสริมบุคคลที่ 3 นำเข้าหรือ Third Party Access (TPA Codes) ทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและคลังเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตรายใหม่จะสามารถดำเนินการประสานงานติดต่อคลังเก็บก๊าซธรรมชาติ (LNG Receiving Terminal) และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อศึกษาความสามารถของระบบก๊าซธรรมชาติ การจองการใช้งานระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในการขอรับใบอนุญาต
“ปัจจุบันราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกอยู่ในระดับที่ต่ำและจะเป็นโอกาสที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวในการเตรียมความพร้อมและติดต่อประสานงานผู้ผลิตเพื่อนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้า” นายคมกฤช กล่าว
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) กล่าวว่า บริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ จึงได้รับใบอนุญาตนำเข้าจาก กกพ. ซึ่งจะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าเอสพีพีทดแทน (replacement SPP )ทั้ง 5 โรง
สำหรับการดำเนินการของบริษัทปีนี้ บริษัทคาดน่าจะมีรายได้และกำไรปีนี้ทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน หรือเติบโตได้เล็กน้อย จากปีก่อนที่มีรายได้ 44,000 ล้านบาท แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมบางโรงงานชะลอการผลิตในช่วงเดือนเมษายน 2563 แต่มองว่าสถานการณ์น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากเริ่มเห็นการกลับมาผลิตของลูกค้าได้ตามปกติแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังทยอยจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าใหม่เข้ามาอีกในช่วงที่เหลือของปีรวม 30 เมกะวัตต์ (MW) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้มีการจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 14 เมกะวัตต์ และจะทยอยจ่ายไฟฟ้าอีก 16 เมกะวัตต์ในครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้ามาเต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 677 เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้บริษัทฯ ได้วางงบลงทุน 5 ปี (63-67) ไว้ที่ 70,000-75,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนพัฒนาโครงการในมือ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A)
โดยหลักยังคงมองโอกาสเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประเทศเกาหลีใต้ กำลังการผลิตประมาณ 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ รวมถึงยังมองโอกาสของโรงไฟฟ้าพลังงานลม ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในประเทศเวียดนาม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-ก๊าซธรรมชาติ และ Transmission and Distribution System (T&D) ในประเทศกัมพูชา ส่วนในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบัน BGRIM ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ ในประเทศไทย บริษัทก็อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2-3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ในกระบวนการทำ Due diligence คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้.-สำนักข่าวไทย