กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – แนวโน้มค่าไฟฟ้าปีหน้าลดลงตามทิศทางราคาก๊าซฯ ที่ผันแปรตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-8 เดือน แต่หากเศรษฐกิจติดลบต่อจากพิษโควิด-19 อาจทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าขยับขึ้น กกพ.ตามติดแจงเงินหมดหน้าตักแล้ว แจ้งรัฐหากให้ดูแลค่าไฟฟ้าเพิ่ม รัฐต้องช่วยส่งงบประมาณมาช่วย ชี้งานพลังงานไม่สะดุด หากรัฐเร่งแต่งตั้งรักษาการ รมว.พลังงาน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าตลอดปี 2564 หากดูเฉพาะค่าเชื้อเพลิง ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก พบว่ามีแนวโน้มค่าไฟฟ้าจะลดลง เพราะราคาก๊าซฯ ของไทยอ้างอิงตามต้นทุนราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-8 เดือน ซึ่งราคาน้ำมันจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีนี้ดิ่งลงมาก บางช่วงเหลือประมาณ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็จะมีผลทำให้ราคาก๊าซฯ ขยับลงตาม โดยงวดถัดไปคาดราคาก๊าซอ่าวไทยจะอยู่ที่ประมาณ 170 บาท/ล้านบีทียู จากที่งวดนี้อยู่ที่ประมาณ 179.80 บาท/ล้านบีทียู แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะทำให้จีดีพี ปีหน้าติดลบต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งการใช้ไฟฟ้ามีสัดส่วนประมาณ 0.7-0.8 ของจีดีพี หากจีดีพี ติดลบ ทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าลดลง ก็ทำให้สัดส่วนต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าขยับเพิ่มขึ้น หากไฟฟ้าขยายตัว ตัวหารเพิ่ม ต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลง
นายคมกฤช ยกตัวอย่างว่า ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563 ลงเพียง 0.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บค่าเอฟที -12.43 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น เพราะราคาก๊าซฯ ลดลง แต่หากไม่มีปัญหาโควิด-19 จีดีพีติดลบ ที่ส่งผลทำให้การใช้ไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 ที่แท้จริงลดลงจากประมาณเดิม คิดเป็นวงเงินรวมถึง 3,002 ล้านบาท ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีก 5.6 สตางค์ โดยประมาณการณ์จีดีพีปี 2563 ล่าสุด กกพ.ได้ใช้ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดลงร้อยละ 8.1 จากเดิมที่ใช้ตัวเลขประมาณการติดลบร้อยละ 5.5 ดังนั้น จึงคาดว่าการใช้ไฟฟ้าปีนี้จะลดลงประมาณร้อยละ 6.5 แต่หากจีดีพีปีนี้ลดลงมากกว่าร้อยละ 8.1 ก็จะทำให้การใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงลดมากกว่าประมาณการ ก็จะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้างวดต่อไป (ม.ค.-เม.ย.64 ) มีต้นทุนขยับสูงขึ้นด้วย ส่วนต้นทุนอื่น ๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ทาง กกพ.ประเมินไว้ที่งวดสุดท้ายปีนี้ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หากปีหน้าค่าเงินบาทแข็งกว่านี้ก็มีโอกาสที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะลดลง
นายคมกฤช กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานของภาครัฐได้ทำหนังสือสอบถามมายังสำนักงาน กกพ. ว่า ยังสามารถช่วยเหลือภาคประชาชนลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมได้หรือไม่ หากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีหลายมาตรการในการลดผลกระทบโควิด-19 รอบแรก มีการใช้เงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กกพ.หมดหน้าตักไปแล้ว ซึ่งทางสำนักงานฯ ได้ตอบกลับไปว่าหากต้องการลดค่าไฟฟ้า เพื่อดูแลประชาชนเพิ่มเติม ทางภาครัฐก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาร่วมดูแล
“การลดค่าไฟฟ้าเอฟที งวดกันยายน-ธันวาคม 2563 นับเป็นการลดงวดแรกในรอบ 10 งวด หรือ 40 เดือน หรือกว่า 3 ปี 3 เดือน จากเดิมขึ้นค่าไฟฟ้ามา 3 งวดและตรึงค่าไฟฟ้ามา 10 งวด ซึ่งจากนี้ไปค่าไฟฟ้าก็จะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขึ้นตามขึ้น ลงตามลง เนื่องจากเงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้า โดย กกพ.หมดหน้าตักแล้ว หลังเข้ามาร่วมดูแลผลกระทบ โควิด-19 ในรอบแรก” นายคมกฤช กล่าว
นายคมกฤช กล่าวว่า มาตรการดูแลผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งการลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 ,การลดค่าเก็บค่าไฟฟ้าต่ำสุด การลดค่าไฟฟ้าตามมติ ครม. 21 เมษายน (ลดค่าไฟฟ้า มี.ค.-พ.ค.เทียบกับฐานการใช้ไฟฟ้า ก.พ.63) การลดไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย เดิมคาดว่าจะใช้เงินรวม 29,255 ล้านบาท ขณะที่เงินบริหารจัดการของ กกพ.ปี 2557-2562 มีเงินเพียง 25,279 ล้านบาท ทำให้เดิมประมาณการว่าจะขาดเงินดูแล 3,976 ล้านบาท แต่ล่าสุดจากการตัวเลขที่แท้จริงคาดว่าจะขาดรวม 1,500 ล้านบาท หากขยายมาตรการการยกเว้น minimum charge เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 วงเงินรวม 663 ล้านบาท รวมแล้วอาจขาดเงินดูแลรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการเดิม เงินส่วนนี้คงต้องรอเงินบริหารจัดการประจำปี 2563-2564 ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาอีกหลายพันล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะมาจากโครงการชะลอการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่ได้ชะลอลงตามการใช้ไฟฟ้าลดลงตามจีดีพี
สำหรับการใช้ไฟฟ้าที่มีรายงานตัวเลขจริง พบว่าช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีการใช้จริง 57,696 ล้านหน่วย ลดลงจากประมาณการร้อยละ 3.60 โดยในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ยังขยายตัวสูงกว่าแผนในอัตราร้อยละ 2.3 และร้อยละ 0.19 ตามลำดับ แต่เดือนมีนาคมต่ำกว่าแผนฯ ลดลงร้อยละ 6.53 และเมษายนลดลงร้อยละ 9.24
“การที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลาออกจะกระทบต่องานด้านพลังงานหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล จะตั้งใคร มารักษาการแทน ก็เป็นไปได้ทั้งการแต่งตั้ง รัฐมนตรีอื่น หรือให้ปลัดกระทรวงพลังงานรักษาการ โดยเรื่องที่รออนุมัติ เช่น แผนปรับปรุงแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (พีดีพี 2018) ที่มีแผนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าอื่น ๆ รวมทั้งการอนุมัติใช้บริหารจัดการ ดูแลค่าไฟฟ้าช่วงโควิด-19 ก็ต้องรออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เสนอประชุมโดยกระทรวงพลังงาน” นายคมกฤช กล่าว. -สำนักข่าวไทย